* Google Analytics start * Google Analytics end
Sunday, 23 August 2009

Sunday, 23 August 2009

Kick off - New website for Thai Investors

เปิดแล้ว FundManagerTalk.com

บทความใน http://fundmangertalk.blogspot.com ในอนาคตจะย้ายไปเขียนที่ http://fundmanagertalk.com ครับ

สวัสดีครับ

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน เนื่องจากผมไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำเวบไซต์ และการเขียนโปรแกรม ในที่สุดก็สามารถคลอดเวบไซต์ใหม่ ที่มีหน้าตาที่สวยขึ้นกว่า Blog ที่เขียนอยู่ปัจจุบัน โดยครอบคลุมเนื้อหามากขึ้น และแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของ การลงทุน, กองทุน, เศรษฐกิจ รวมไปถึงอาชีพในสายการเงินการลงทุน โดยเฉพาะอาชีพผู้จัดการกองทุน

นอกจากนี้ผมยังได้นำเอา Webboard มาติด เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถตั้งกระทู้ถาม และสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในลักษณะ 2 Way Communication โดยมีการแบ่งแยกหมวดหมู่ให้สามารถใช้ได้โดยง่าย

------------------------------------------------------------------------------------------------

ปล. เส้นทางการสร้างเวบ ของคนไม่มีความรู้เรื่องการเขียนเวบแบบผม

โปรแกรม CMS เริ่มจาก Drupal ยากเกินไป มาเป็น Joomla ยังยากไปอยู่ ในที่สุดมาลงตัวที่ Wordpress ใช้ง่าย ปรับแต่ง Code เพียงนิดหน่อย ที่สำคัญ ผมว่า หน้าตามันดูดีทีเดียว

จะเอา Forum หรือที่คนไทยเรียก Webboard มาติดก็ลองมาหลายตัว PhPBB ไม่สำเร็จ ก็มาลอง bbPress ก็ยังไม่สำเร็จ จนสุดท้ายมาลงตัวที่ "Simple Press Forum" ถูกใจ Plug-in ตัวนี้มากเพราะใช้งานง่ายและมีฟังก์ชั่นครบจนชักอยากจะ Donate ให้เค้าซักหน่อย ไม่รู้ว่าสร้าง Forum มาจะเงียบเหงาหรือเปล่า ต้องรอลุ้นดูกันต่อไปครับ

ติดตามกันได้นะครับที่ http://fundmanagertalk.com
Share/Save/Bookmark
Thursday, 20 August 2009

Thursday, 20 August 2009

FundTalk12 ลงทุนกองทุนอะไรดี ?

Which fund to invest ?

“ลงทุนกองทุนอะไรดี” เป็นคำถามยอดฮิต คำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับ รวมถึงเป็นประโยคหนึ่งที่นักลงทุนไทยนิยมพิมพ์ลงไปใน Search Engine เพื่อค้นหาทาง Internet ซึ่งวันนี้ผมจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ

ปีนี้กองทุนของที่ไหนผลตอบแทนดีที่สุด ?

เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมาก แต่ผมคิดว่ามีข้อควรระวังครับ บ่อยครั้งที่เราลงทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเป็นหลัก เช่น เวลาจะซื้อกองทุน LTF ตอนปลายปี ก็จะดูว่าในปีนั้นกองทุนของที่ไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด แล้วก็เลือกลงทุนกับกองทุนนั้น แต่บ่อยครั้งอีกเช่นกันครับว่าในปีถัดไปที่กองทุนที่เราซื้อไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดี หรืออาจจะอยู่ในอันดับล่าง ๆ เลยก็ได้ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากผลตอบแทนในปีก่อนหน้าที่ดีกว่าปกติ และหุ้นที่กองทุนถืออยู่ราคาปรับเพิ่มไปค่อนข้างมาก และสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน ในปีถัดไปผลตอบแทนเลยไม่ได้ออกมาดีนัก ผมแนะนำให้ดูผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ยาว เช่น 3 – 5 ปีครับ เพราะการลงทุนในหุ้นควรจะเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3 – 5 ปีอยู่แล้ว อีกทั้งหากเป็นการลงทุนในกองทุน LTF ก็เป็นการลงทุนระยะหลายปีเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แล้วเราจะมาดูผลตอบแทนกันปีต่อปีเพื่อกำหนดการตัดสินใจทำไมล่ะครับ ผมเสนอให้เปลี่ยนคำถามที่คุณควรสนใจเป็น “ผลตอบแทน 3 – 5 ปี กองทุนไหนดีที่สุด” เพื่อใช้ในการเลือกกองทุนครับ

ช่วงนี้ลงทุนกองทุนประเภทไหนดี ?

เป็นอีกคำถามยอดฮิตเช่นกัน ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุนที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นการซื้อเข้ามาอย่างคับคั่งหลังจากที่ผลตอบแทนของกองทุนแต่ละประเภทปรับเพิ่มขึ้นมามาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และก็มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนตราสารหนี้ประเภทอายุยาว ๆ เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนปรับเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผลที่ออกมาก็คือการ “ติดดอย” ไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นการเข้าซื้อที่จังหวะ peak ของตลาด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวที่เรามักจะชอบทำกันเป็นการ “มองไปข้างหลัง” ว่าที่ผ่านมาสินทรัพย์ประเภทใดให้ผลตอบแทนดี แต่เรามักจะลืมไปว่าเมื่อเราลงทุนนั้น ผลตอบแทนที่เราจะได้รับคือผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรจะศึกษาอนาคตกันซักนิดครับ เช่น ดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้าว่าอยู่ในวัฏจักรใด ถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาขึ้น ก็จะเหมาะกับหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ แต่ไม่เหมาะกับตราสารหนี้อายุยาว ๆ กลับกันถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาลง การลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุยาว ๆ ก็เป็นการตัดสินใจที่ดีครับ (ท่านสามารถติดตามเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจเพื่อกำหนดกลยุทธการลงทุนที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ คุยกับ “ผู้จัดการกองทุน” ได้ที่ http://feeds.feedburner.com/fundmanagertalk )

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

สำหรับหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้มีเวลาในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ว่าในแต่ละช่วงเวลาควรปรับเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ใด ผมแนะนำให้ท่านทำการจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของท่าน (Asset Allocation) และปล่อยให้เงินลงทุนทำงานระยะยาว ซึ่งดีกว่าการปรับสัดส่วนไปมาตามกระแส หรือปรับสัดส่วนโดยการมองจากอดีตดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับประเด็นเรื่องการ Asset Allocation จะเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอในคราวถัดไปครับ

ผมได้ทำการ update ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนแบบวันต่อวัน ผ่านทาง twitter ในชื่อ @FundTalk ถ้าสนใจลองติดตามดูนะครับ


เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ. อยุธยา จำกัด.


xxx
Share/Save/Bookmark
Thursday, 13 August 2009

Thursday, 13 August 2009

FundTalk11 เสริมความรู้เรื่อง การลงทุน ด้วย twitter

Fullfill your investment knowledge with twitter

ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีในการสื่อสารของประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ Social Networking ซึ่งหมายถึง สังคมประเภทหนึ่งที่มา online อยู่บน internet ร่วมกัน โดยสาเหตุที่ทำให้ Social Networking ในบ้านเรากำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก ผมมองว่าเป็นเพราะลักษณะเด่นของ Social Networking ที่มีพื้นฐานของการให้ และรับ ข้อมูลข่าวสาร (Give and Take) ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกมีส่วนร่วม และได้แบ่งปันระหว่างกัน (Sharing & Contribution) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของจิตวิทยาทางสังคม สำหรับกรณีของประเทศไทย ผมพบว่า Social Networking Tools ที่ได้รับความนิยมมากคือ HI5 และ Facebook และที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมากคือเจ้า Micro-blogging service ที่ชื่อ twitter



จากมุมมองของผม ผู้ใช้ HI5 และ Facebook ส่วนใหญ่จะใช้งานในลักษณะของการแบ่งปันเรื่องส่วนตัว ระหว่างเพื่อน, ญาติ, และคนรู้จักกันเป็นหลัก ขณะที่ twitter ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะมาเล่ารายละเอียดในวันนี้ จะเป็นการแบ่งปันข้อมูลในลักษณะ Public communication นั่นคือการแบ่งปันเรื่องที่น่าสนใจให้กับสาธารณะ โดยผู้ที่ใช้ twitter จะสามารถแบ่งปันข้อมูลได้ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดี เพราะทำให้การสื่อสารกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ สำหรับความน่าสนใจของ twitter ที่กำลังมาแรงในชั่วโมงนี้ ผมมองว่ามาจากผู้ใช้งาน (user) ที่มีความน่าสนใจ และกระโดดลงมาเล่นพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น คุณอภิสิทธิ์, คุณทักษิณ, Barack Obama, คุณสุทธิชัย, คุณกรณ์ หรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น CNN, The Economist, Chicago Board of Trade ฯลฯ อีกมากมาย เพียงคุณเลือกติดตาม (Follow) บุคคลและหน่วยงานเหล่านั้น คุณก็จะได้รับการ update ข้อมูลข่าวสาร ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวจากท่านเหล่านั้นได้ตลอดเวลา


Where Life and Investment Intersect


ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านข่าวโดยผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวันเวลานั่งรถไฟฟ้า ซึ่งโดยปรกติผมจะอ่านข่าวจากเวบไซต์ของ CNBC, Bloomberg, ESPN แต่ต้องยอมรับว่านับแต่เริ่มใช้งานเจ้า twitter ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พฤติกรรมของผมเปลี่ยนไปโดยเปิดหน้า twitter ของตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะผมจะได้พบกับสรุปข้อมูลที่ผมสนใจไม่ว่าจะเป็นข่าวด้านเศรษฐกิจ และข่าวทั่วโลกจากสำนักข่าวที่ผมเลือก follow, เรื่องเศรษฐกิจไทยจากคุณกรณ์, เรื่องการเมืองจากคุณสุทธิชัย, เรื่องกีฬาฟุตบอลจาก Premier League, รวมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ของเพื่อนสนิทที่ผมติดตาม เรียกได้ว่าเป็นที่ ๆ ทำให้เรื่องที่ผมสนใจทั้งเรื่องงาน เรื่องงานอดิเรก และเรื่องส่วนตัวมารวมอยู่ในที่เดียวกัน


เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจกับการใช้ twitter มาก มาจากการที่ผมได้ลองเสนอท่านรัฐมนตรีคลังผ่านทาง twitter ให้ลองศึกษานโยบาย “Cash for Clunkers” ที่สหรัฐฯ ใช้ในการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และคุณกรณ์ก็ได้ twit กลับมาว่าได้ลองดูแล้ว และพบมีข้อดี รวมถึงข้อเสียหลายประการ ที่ประทับใจคือ มันคงเป็นไปได้ยากมากที่ผมจะได้สื่อสารกับรัฐมนตรีหากไม่มีเจ้าเครื่องมือตัวนี้ และก็ต้องขอขอบคุณ คุณกรณ์ ด้วยที่สละเวลามาใส่ใจกับความเห็นของผม



สำหรับท่านที่ลองเล่น twitter มือใหม่ ผมขอ share บุคคลและหน่วยงานที่ผมติดตาม โดยคุณสามารถใส่ชื่อย่อเพื่อติดตามได้ในกล่อง Search ครับ : คุณอภิสิทธ์ = PM_Abhisit, คุณทักษิณ = Thaksinlive, คุณสุทธิชัย = suthichai, คุณกรณ์ = KornDemocrat, Barack Obama = BarackObama, The Economist = TheEconomist, TIME Magazine = TIME, Pacific Investment Management Company = PIMCO, World Economic Forum = Davos ในขณะเดียวกันผมก็ใช้เวลาว่างในการ Share มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนด้วยเช่นกันโดยหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่อง การลงทุน โดยติดตามได้ที่ http://twitter.com/FundTalk


เจษฎา สุขทิศ, CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.



xxx


Share/Save/Bookmark
Tuesday, 11 August 2009

Tuesday, 11 August 2009

อัตราผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2552

สำหรับท่านที่สนใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นะครับ ข้อมูลได้รับมาจาก "มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย" เราจะได้ทราบกันว่าเวลาเศรษฐกิจผันผวนเช่นปี 2009 นี้ อสังหาริมทรัพย์ภาคไหนได้รับผลกระทบมากน้อย และให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร


ตามที่มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมระดมสมองเกี่ยวกับการกำหนดอัตราผลตอบแทนในการลงทุน และได้สรุปผลแบบสอบถามแสดงความเห็น ประมวลเป็นอัตราผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2552 จึงขอสรุปเพื่อการอ้างอิง ดังนี้:

โกดัง/โรงงาน 2551 >>> 7-10% 2552 >>> 7-10%
สถานการณ์โดยรวมทรงตัว แต่มีแนวโน้มมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงมาก อาจทำให้การใช้พื้นที่ลดลง

ศูนย์การค้า 2551 >>> 8-10% 2552 >>> 8-12%
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่ำกว่าประเภทอื่นๆ เนื่องจากประชาชนยังจับจ่ายใช้สอย และผู้เช่าลงทุนระยะยาวแต่ศูนย์การค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นต่างชาติ จะได้รับผลกระทบมากกว่า

อาคารสำนักงาน 2551 >>> 7-8% 2552 >>> 7-10%
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจช้ากว่า เนื่องจากมีรายได้ตามสัญญาเช่าผูกพัน (3 ปี) แต่บางทำเลอาจต่ำมากเพียง 4-5%

เซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ 2551 >>> กทม. เกรด A 8-9% กทม. เกรด B 7-8%
2552 >>> กทม. เกรด A 7-10% กทม. เกรดB 6-8%

1.ความเสี่ยงสูงขึ้น จากอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นแต่การเติบโตของชาว ต่างชาติมาทำงานในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก
2.ความเสี่ยงในโครงการที่ให้ลูกค้าเช่าต่ำกว่า 1 เดือน เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายโรงแรมฉบับใหม่ (22 พฤษภาคม 2552) ห้ามเซอร์วิสฯ รับลูกค้าพักต่ำกว่า 1 เดือน

อะพาร์ตเมนต์ 2551 >>> กทม. 6-7% 2552 >>> กทม. 6-8% ความเสี่ยงสูงขึ้น จากอัตราการเข้าพักที่ลดลง จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก คล้ายตลาดเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ แต่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เพราะมีอุปทานสูง มีการแข่งขันสูง

โรงแรม 2551 >>> กทม. 8-10% 2552 >>> กทม. 8-12%
ความเสี่ยงสูงขึ้นจากภาวะการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ผลตอบแทนส่วนหนึ่งจาก Capital Gain รวมค่ารายได้สุทธิจากการดำเนินงาน


อย่างไรก็ตามอัตราที่กำหนดนี้ใช้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ ในกรณีจังหวัดอื่นในภูมิภาคอัตราอาจมีความแตกต่างไป ทั้งนี้มูลนิธิเห็นว่าในการใช้อัตราผลตอบแทนใด ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสมควรอธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาและสมมติฐานที่กำหนดให้ผู้รับบริการได้เข้าใจอย่างแท้จริง โดยอาจแตกต่างไปจากที่มูลนิธิได้ทำการศึกษาไว้ ทั้งนี้การอธิบายวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินถือเป็นมาตรฐานและจรรยาบรรณประการหนึ่งของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินตามที่สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยและสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทยได้กำหนดไว้

สำหรับวิธีการกำหนดอัตราผลตอบแทนนี้ มูลนิธิได้เชิญผู้รู้ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ มาระดมสมองเพื่อพิจารณา โดยนำเกณฑ์จากอัตราผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และบริษัทมหาชนมาประกอบด้วย แต่อัตราผลตอบแทนที่ได้รับการระดมสมองแตกต่างไปจากอัตราผลตอบแทนที่อ้างอิงบ้าง เนื่องจากอาจมีต้นทุนประกอบการที่แตกต่างไป การระดมสมองมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 90 คน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว มูลนิธิได้ส่งผลการระดมสมองให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นโดยมีผู้ตอบแบบสอบถามอีก 111 ราย หลังจากนั้นมูลนิธิจึงได้สรุปผลสุดท้ายและนำเสนอ

อัตราผลตอบแทนในการลงทุนข้างต้น เป็นเพียงอัตราผลตอบแทนที่รวบรวมจากข้อมูลส่วนหนึ่งในตลาดรวมทั้งจากผู้รู้ในแต่ละอุตสาหกรรมเบื้องต้น ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ทำเลที่ตั้ง เกรดของโครงการ ต้นทุนทางการเงินของแต่ละโครงการ ฯลฯ ดังนั้นในการนำไปใช้ยังต้องทำการพิจารณาปรับค่าตามปัจจัยต่างๆ รวมทั้งภาวะตลาด ในขณะนั้น และปัจจัยลบหรือปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทน เช่น ต้นทุนโครงการที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ กฎระเบียบใหม่ๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทน

การนำไปใช้ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ควรพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้วยวิธีการรายได้ มีพื้นฐานมาจากผลตอบแทนของนักลงทุนเป็นสำคัญ ดังนั้นในบางขณะที่อัตราผลตอบแทนในท้องตลาดต่ำมาก เช่น 3-5% ข้อพิจารณาสำหรับการประเมินก็คือว่า ผู้ประเมินจะประเมินเท่ากับราคาตลาดดีหรือว่าประเมินโดยใช้ดุลยพินิจถึงความเหมาะสมในด้านการลงทุน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ

กรณีที่ 1 หากรายได้สุทธิจากการดำเนินงานปีละ 100 ล้านบาท หากใช้อัตราตลาด ณ ขณะนั้นเพียง 5% มูลค่าก็จะได้ที่ 2,000 ล้านบาท

กรณีที่ 2 รายได้จากการดำเนินงานปีละ 100 ล้านบาทเท่าเดิม แต่หากผู้ประเมินถึงพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนผลตอบแทนในการลงทุนตามตลาดเพียง 5% อาจต่ำเกินไป (เพราะหากลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำ อาจไม่มีผู้สนใจซื้อหรือลงทุน) ดังนั้นหากพิจารณาให้น่าลงทุนสมมติ 8% (พิจารณาเพิ่มความเสี่ยงด้านต่างๆ หรือทางเลือกในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เป็นต้น) มูลค่าก็จะได้เพียง 1,250 ล้านบาท (อย่างไรก็ตาม แม้บางช่วงผลตอบแทนจากการดำเนินงานจะต่ำ แต่ก็อาจมีผู้สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะยังเชื่อว่าในอนาคตราคาจะสูงขึ้น ทำให้มี Capital Gain อีกจำนวนหนึ่ง)

นัยข้างต้นแสดงถึง หากรายได้สุทธิจากการดำเนินงานมี 100 ล้านบาท หากจะซื้อเพื่อลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 5% ก็ซื้อได้ที่ 2,000 ล้านบาท แต่หากจะซื้อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ 8% ก็ต้องซื้อเพียง 1,250 ล้านบาท (เพราะซื้อมา 1,250 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนคืนมา 100 ล้านบาท จึงเท่ากับ 8%) ซึ่งในบางขณะที่กองทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยใช้อัตราผลตอบแทนถึง 18% แปลว่านักลงทุนต่างชาติต้องการจะซื้อเพียง 555 ล้านบาท เพราะนักลงทุนเหล่านี้มองประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมาก อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ของนักลงทุนต่างชาติในกรณีนี้ คงเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับอสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่มีความเสี่ยงสูงจากวิกฤติเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม จะกำหนดอัตราผลตอบแทนในการประเมินที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดปัจจุบัน ข้างต้น

ท่านสามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่http://www.thaiappraisal.org/Thai/Standard/standard10.php



โดยสรุปแล้ว Sector ศูนย์การค้า ดูจะทนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ดีที่สุด รวมถึงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจครับ ถ้าไม่มีเงินซื้อทั้งตึก ลองดู Property Funds สิครับ





Share/Save/Bookmark
Thursday, 6 August 2009

Thursday, 6 August 2009

FundTalk10 การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจ (ภาคจบ)

Simulating Investment strategy from analyzing economic results

ต่อเนื่องจากบล็อก FundTalk9 ที่ผมได้เสนอให้ท่านผู้อ่านติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสองตัวหลัก คือ ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ใน Inflation Report ของแบงค์ชาติ ซึ่งผมมองว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่นักลงทุนทุกกลุ่มในตลาดให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ นอกจากนั้นมีตัวเลขเศรษฐกิจอีกชุดนึงที่ควรรติดตามตัวเลขการเติบโตจริงของประเทศที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ เพื่อให้ทราบว่าการเติบโตจริงของประเทศ และนำไป cross check กับตัวเลขประมาณการของแบงค์ชาติด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแบงค์ชาติประมาณการเศรษฐกิจจะโต 5% แต่หาตัวเลขจริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ ใน 2 ไตรมาสแรกโตแค่ 2% นั่นคือมีโอกาสสูงที่แบงค์ชาติจะปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง ซึ่งแน่นอนจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และค่าเงิน สำหรับรายละเอียดว่าตัวเลขแต่ละชุดจะมีกำหนดออกอย่างไร ความถี่ในการเผยแพร่ และแหล่งข้อมูลในการติดต่อหา สามารถติดตามได้จากบล็อก FundTalk9 ครับ


Your view against Market Consensus

ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของ ผู้จัดการกองทุน สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการติดตามการประกาศของตัวเลขเศรษฐกิจ หากแต่เป็นการมีมุมมอง (Market View) ที่แตกต่างจากสิ่งที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เชื่อ (Market Consensus) ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เชื่อก็มักจะเป็นตัวเลขจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเช่นแบงค์ชาติ หรือสภาพัฒน์ดังที่แนะนำให้ท่านติดตามนั่นเอง

ขอยกเป็นตัวอย่างครับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม แบงค์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในปี 2010 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับตัวเลข GDP growth ปีหน้าจากเฉลี่ย 2.5% เป็น 4.0% และปรับตัวเลขเงินเฟ้อจากเฉลี่ย 2.0% เป็น 4.5% ซึ่งการปรับเพิ่มประมาณการครั้งเดียว 1.5 – 2.5% ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมาก (ถ้าดูย้อนหลังในอดีตจะเห็นว่าการปรับประมาณการแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยจะปรับน้อยกว่านี้)


Before Fact

การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน ก่อนที่ตัวเลขจะประกาศ หากเราทำการวิเคราะห์ก่อนหน้าที่แบงค์ชาติจะปรับประมาณการ และเชื่อว่าจะมีการปรับประมาณการแบบ Positive Surprise เราก็ควรจะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ก่อนที่จะถึงวันที่แบงค์ชาติจะประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (เวลาเศรษฐกิจดี เงินเฟ้อสูงราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาตราสารหนี้จะปรับลดลง)

After Fact

หลังจากตัวเลขการคาดการเศรษฐกิจของแบงค์ชาติประกาศ ตลาดก็จะปรับตัวไปตามการคาดการณ์นั้น หาก ผู้จัดการกองทุน มีมุมมองที่ต่างจากแบงค์ชาติ ยกตัวอย่างเช่น หาก ผู้จัดการกองทุน มองว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตเพียง 2% นั่นคือเชื่อว่าในอนาคตจะมีการลดประมาณการ GDP เราก็ควรจะปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้

โดยสรุป การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน เพื่อชนะตลาด ต้องทำเมื่อนักลงทุน คิดแตกต่างจากสิ่งที่ตลาดคิด (Our view against consensus) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรมีคือมีมุมมองของตัวเอง เพื่อนำไปเทียบกับสิ่งที่ตลาดคิด แล้วนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน นั่นเอง

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ. อยุธยา จำกัด.

xxx





Share/Save/Bookmark
Tuesday, 4 August 2009

Tuesday, 4 August 2009

Twitter เพื่อ การลงทุน

วันหนึ่งตัดสินใจลองใช้ twitter เพราะอยากตาม twitter war ระหว่างนายกฯ และอดีตนายกฯ เมื่อลองใช้จึงเข้าใจกลไกการทำงานที่น่าสนใจหลายจุดที่แตกต่างจาก Social Networking Tools อย่าง Facebook หรือ HI5 ที่มักจะใช้เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ

twitter จะมีการ post ข้อความที่ส้ั้น ได้ใจความกว่า ไม่เกิน 2 บรรทัด โดยถ้าเนื้อหาที่นำเสนอมีความน่าสนใจ หรือผู้ที่นำเสนอเป็นคนที่สังคมติดตามก็จะมี Follower ติดตามเยอะ ผมเห็นเยอะที่คน หรือบริษัทใช้ twitter เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับ public ต่างจาก Facebook ที่มักจะเป็นการสื่อสารแบบค่อนข้างส่วนตัวระหว่างเพื่อนฝูงกันเอง

พอลองไล่ search หาคนที่เราสนใจ พบว่ามีมากเหนือความคาดหมาย ทั้งนายกฯ, อดีตนายก, คุณกรณ์, คุณสุทธิชัยหยุ่น, The Economist, CNN, Bloomberg, Reuters พอเราเพิ่มคนทั้งหมดนี้เป็นบุคคลที่เราติดตาม เมื่อเราเปิด twitter page ของเราทุกครั้งก็จะได้อ่าน wrap up เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราสนใจ

ที่สำคัญอีกอย่างคือความ "สด" ของเรื่องราวที่เราได้รับ ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับข่าวสารที่ใหม่ และ up to date มาก ๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่นั่งรถไฟฟ้าทุกวัน และมักจะอ่านข่าวผ่าน browser ทางโทรศัพท์มือถือ โดยเมื่อก่อนผมจะเปิดอ่านข่าวของ CNBC และ Bloomberg เป็นหลัก หรือถ้าอ่านหมดแล้วก็จะเช็ค email แต่สัปดาห์นึงที่ผ่านมาเรียกได้ว่าติดเจ้า twitter นี้งอมแงมทีเดียว

หลัง ๆ นอกจากเป็นผู้เสพย์ ก็เริ่มอยากที่จะ Share ให้คนอื่นบ้าง เมื่อเห็นว่าทุกวันงานของ ผู้จัดการกองทุน จำเป็นต้องอ่าน Research เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่ออ่านจบฉบับไหนที่คิดว่าน่าสนใจผมก็สรุปให้เหลือ 2 บรรทัดแล้วก็ twit ซะ 1 ที หรือถ้าผมมีมุมมองในเรื่องเศรษฐกิจ หรือตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ค่าเงิน ก็ twit เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่น ลองติดตามได้นะครับที่ URL >>>

http://twitter.com/FundTalk


ลองดูสิครับเผื่อจะติดใจ ถ้ามี Tips อะไรน่าสนใจก็มาบอกเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.

xxx
Share/Save/Bookmark
Thursday, 30 July 2009

Thursday, 30 July 2009

FundTalk9 การวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุน

Simulate Investment Strategy from analyzing Economic Indicators


ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “Quarterly Economic Assessment and Outlook” ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาของเรื่องราวในวันนี้ที่อยากจะแลกเปลี่ยนวิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนหนึ่ง ในการที่จะวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ประกาศออกมา และนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยหวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้นำแนวคิดไปใช้เป็นอาวุธเสริมสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนของท่านเอง

ตัวเลขเศรษฐกิจหาจากไหน

หลายท่านอาจคิดว่าต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน จึงจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่จริงทีเดียวสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจครับ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะมีที่มาจากหน่วยงานราชการ ซึ่งสมัยนี้มักจะนำเสนอผ่านเวบไซต์ โดยผู้ลงทุนทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้พร้อมกัน และได้รับข้อมูลที่เหมือนกัน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลัก ๆ ที่น่าติดตาม ผมคิดว่ามีดังนี้ครับ

1. รายงานเศรษฐกิจและการเงินรายเดือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ”) โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายเดือน ทุก ๆ วันทำการสุดท้ายของเดือน โดยครอบคลุมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, อัตราการใช้กำลังการผลิต, เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน, เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน, อัตราเงินเฟ้อ, ภาคส่งออก-นำเข้า ฯลฯ

2. รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ” >>> เลือก “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ”) รายงานนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะจะมีรายละเอียดเชิงลึกของทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีข้างหน้า ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวม และแต่ละภาคส่วน โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายไตรมาส ในเดือน มกราคม, เมษายน, กรกฎาคม, และตุลาคม ของทุกปีครับ

3. ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (http://www.nesdb.go.th/
>>> เลือก “ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม” >>> เลือก “บัญชีประชาชาติ” >>> เลือก “Quarterly Gross Domestic Product”) โดยตัวเลข GDP จะประกาศหลังจากสิ้นไตรมาสประมาณ 2 เดือน เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ปีนี้จะประกาศประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2552 นี้ โดยรายงานฉบับนี้จะลงลึกในรายละเอียดทั้งหมดของอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ประกาศจากหน่วยงานรัฐครับ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขการส่งออก / นำเข้า ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ (http://www.mof.go.th/
), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ประกาศโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (http://www.thaiechamber.com/) เป็นต้น

ตัวเลขเศรษฐกิจหลัก ๆ ที่ควรติดตาม

ถ้าคุณไม่ได้ทำงานที่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างใกล้ชิด คงจะเป็นการยากหากคุณจะต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจทุก ๆ ตัว และทุก ๆ เดือนอย่างที่ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องทำ ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ติดตามเป็นรายไตรมาสครับโดยติดตาม รายงาน 2 ฉบับนี้ครับ

1. “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ” ของแบงค์ชาติ เพื่อให้ทราบว่าประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของแบงค์ชาติเมื่อมองไปข้างหน้าเป็นอย่างไร สำคัญคือการปรับประมาณการครับ ว่า 3 เดือนที่ผ่านมาแบงค์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้าปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจขึ้นหรือลงครั้งละมาก ๆ ก็มักจะมีผลต่อตลาดหุ้น, ตลาดตราสารหนี้, รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2. ตัวเลข GDP จริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ อันนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำไป Cross check กับการประมาณการเศรษฐกิจของแบงค์ชาติได้ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น หากประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนเมษายนบอกว่าปีนี้ เศรษฐกิจจะโตมาก แต่พอตัวเลขจริงของไตรมาส 1 ที่ประกาศในเดือนพฤษภาคม ออกมาไม่ดี เราก็พอจะคาดเดาได้ครับว่าน่าจะการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้างแน่นอน ไม่มาก ก็น้อยครับ



วิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 แบงค์ชาติได้เผยแพร่รายงานภาวะเงินเฟ้อล่าสุดออกมา โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP และเงินเฟ้อของปี 2552 จาก และปรับเพิ่มประมาณการของปี 2553 รายละเอียดตามตารางครับ


ใน BLOG ฉบับหน้าเราจะมาทำการวิเคราะห์กันครับว่าตัวเลขดังกล่าวจะนำไปวิเคราะห์ได้อย่างไร และที่สำคัญคือจะนำตัวเลขนั้นไปจัดกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างไร ติดตามฉบับหน้าครับ



โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด.

xxx


Share/Save/Bookmark