* Google Analytics start * Google Analytics end
Sunday 23 August 2009

Sunday 23 August 2009

Kick off - New website for Thai Investors

เปิดแล้ว FundManagerTalk.com

บทความใน http://fundmangertalk.blogspot.com ในอนาคตจะย้ายไปเขียนที่ http://fundmanagertalk.com ครับ

สวัสดีครับ

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน เนื่องจากผมไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำเวบไซต์ และการเขียนโปรแกรม ในที่สุดก็สามารถคลอดเวบไซต์ใหม่ ที่มีหน้าตาที่สวยขึ้นกว่า Blog ที่เขียนอยู่ปัจจุบัน โดยครอบคลุมเนื้อหามากขึ้น และแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของ การลงทุน, กองทุน, เศรษฐกิจ รวมไปถึงอาชีพในสายการเงินการลงทุน โดยเฉพาะอาชีพผู้จัดการกองทุน

นอกจากนี้ผมยังได้นำเอา Webboard มาติด เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถตั้งกระทู้ถาม และสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในลักษณะ 2 Way Communication โดยมีการแบ่งแยกหมวดหมู่ให้สามารถใช้ได้โดยง่าย

------------------------------------------------------------------------------------------------

ปล. เส้นทางการสร้างเวบ ของคนไม่มีความรู้เรื่องการเขียนเวบแบบผม

โปรแกรม CMS เริ่มจาก Drupal ยากเกินไป มาเป็น Joomla ยังยากไปอยู่ ในที่สุดมาลงตัวที่ Wordpress ใช้ง่าย ปรับแต่ง Code เพียงนิดหน่อย ที่สำคัญ ผมว่า หน้าตามันดูดีทีเดียว

จะเอา Forum หรือที่คนไทยเรียก Webboard มาติดก็ลองมาหลายตัว PhPBB ไม่สำเร็จ ก็มาลอง bbPress ก็ยังไม่สำเร็จ จนสุดท้ายมาลงตัวที่ "Simple Press Forum" ถูกใจ Plug-in ตัวนี้มากเพราะใช้งานง่ายและมีฟังก์ชั่นครบจนชักอยากจะ Donate ให้เค้าซักหน่อย ไม่รู้ว่าสร้าง Forum มาจะเงียบเหงาหรือเปล่า ต้องรอลุ้นดูกันต่อไปครับ

ติดตามกันได้นะครับที่ http://fundmanagertalk.com
Share/Save/Bookmark
Thursday 20 August 2009

Thursday 20 August 2009

FundTalk12 ลงทุนกองทุนอะไรดี ?

Which fund to invest ?

“ลงทุนกองทุนอะไรดี” เป็นคำถามยอดฮิต คำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับ รวมถึงเป็นประโยคหนึ่งที่นักลงทุนไทยนิยมพิมพ์ลงไปใน Search Engine เพื่อค้นหาทาง Internet ซึ่งวันนี้ผมจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ

ปีนี้กองทุนของที่ไหนผลตอบแทนดีที่สุด ?

เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมาก แต่ผมคิดว่ามีข้อควรระวังครับ บ่อยครั้งที่เราลงทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเป็นหลัก เช่น เวลาจะซื้อกองทุน LTF ตอนปลายปี ก็จะดูว่าในปีนั้นกองทุนของที่ไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด แล้วก็เลือกลงทุนกับกองทุนนั้น แต่บ่อยครั้งอีกเช่นกันครับว่าในปีถัดไปที่กองทุนที่เราซื้อไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดี หรืออาจจะอยู่ในอันดับล่าง ๆ เลยก็ได้ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากผลตอบแทนในปีก่อนหน้าที่ดีกว่าปกติ และหุ้นที่กองทุนถืออยู่ราคาปรับเพิ่มไปค่อนข้างมาก และสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน ในปีถัดไปผลตอบแทนเลยไม่ได้ออกมาดีนัก ผมแนะนำให้ดูผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ยาว เช่น 3 – 5 ปีครับ เพราะการลงทุนในหุ้นควรจะเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3 – 5 ปีอยู่แล้ว อีกทั้งหากเป็นการลงทุนในกองทุน LTF ก็เป็นการลงทุนระยะหลายปีเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แล้วเราจะมาดูผลตอบแทนกันปีต่อปีเพื่อกำหนดการตัดสินใจทำไมล่ะครับ ผมเสนอให้เปลี่ยนคำถามที่คุณควรสนใจเป็น “ผลตอบแทน 3 – 5 ปี กองทุนไหนดีที่สุด” เพื่อใช้ในการเลือกกองทุนครับ

ช่วงนี้ลงทุนกองทุนประเภทไหนดี ?

เป็นอีกคำถามยอดฮิตเช่นกัน ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุนที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นการซื้อเข้ามาอย่างคับคั่งหลังจากที่ผลตอบแทนของกองทุนแต่ละประเภทปรับเพิ่มขึ้นมามาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และก็มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนตราสารหนี้ประเภทอายุยาว ๆ เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนปรับเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผลที่ออกมาก็คือการ “ติดดอย” ไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นการเข้าซื้อที่จังหวะ peak ของตลาด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวที่เรามักจะชอบทำกันเป็นการ “มองไปข้างหลัง” ว่าที่ผ่านมาสินทรัพย์ประเภทใดให้ผลตอบแทนดี แต่เรามักจะลืมไปว่าเมื่อเราลงทุนนั้น ผลตอบแทนที่เราจะได้รับคือผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรจะศึกษาอนาคตกันซักนิดครับ เช่น ดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้าว่าอยู่ในวัฏจักรใด ถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาขึ้น ก็จะเหมาะกับหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ แต่ไม่เหมาะกับตราสารหนี้อายุยาว ๆ กลับกันถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาลง การลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุยาว ๆ ก็เป็นการตัดสินใจที่ดีครับ (ท่านสามารถติดตามเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจเพื่อกำหนดกลยุทธการลงทุนที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ คุยกับ “ผู้จัดการกองทุน” ได้ที่ http://feeds.feedburner.com/fundmanagertalk )

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

สำหรับหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้มีเวลาในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ว่าในแต่ละช่วงเวลาควรปรับเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ใด ผมแนะนำให้ท่านทำการจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของท่าน (Asset Allocation) และปล่อยให้เงินลงทุนทำงานระยะยาว ซึ่งดีกว่าการปรับสัดส่วนไปมาตามกระแส หรือปรับสัดส่วนโดยการมองจากอดีตดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับประเด็นเรื่องการ Asset Allocation จะเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอในคราวถัดไปครับ

ผมได้ทำการ update ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนแบบวันต่อวัน ผ่านทาง twitter ในชื่อ @FundTalk ถ้าสนใจลองติดตามดูนะครับ


เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ. อยุธยา จำกัด.


xxx
Share/Save/Bookmark
Thursday 13 August 2009

Thursday 13 August 2009

FundTalk11 เสริมความรู้เรื่อง การลงทุน ด้วย twitter

Fullfill your investment knowledge with twitter

ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีในการสื่อสารของประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ Social Networking ซึ่งหมายถึง สังคมประเภทหนึ่งที่มา online อยู่บน internet ร่วมกัน โดยสาเหตุที่ทำให้ Social Networking ในบ้านเรากำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก ผมมองว่าเป็นเพราะลักษณะเด่นของ Social Networking ที่มีพื้นฐานของการให้ และรับ ข้อมูลข่าวสาร (Give and Take) ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกมีส่วนร่วม และได้แบ่งปันระหว่างกัน (Sharing & Contribution) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของจิตวิทยาทางสังคม สำหรับกรณีของประเทศไทย ผมพบว่า Social Networking Tools ที่ได้รับความนิยมมากคือ HI5 และ Facebook และที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมากคือเจ้า Micro-blogging service ที่ชื่อ twitter



จากมุมมองของผม ผู้ใช้ HI5 และ Facebook ส่วนใหญ่จะใช้งานในลักษณะของการแบ่งปันเรื่องส่วนตัว ระหว่างเพื่อน, ญาติ, และคนรู้จักกันเป็นหลัก ขณะที่ twitter ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะมาเล่ารายละเอียดในวันนี้ จะเป็นการแบ่งปันข้อมูลในลักษณะ Public communication นั่นคือการแบ่งปันเรื่องที่น่าสนใจให้กับสาธารณะ โดยผู้ที่ใช้ twitter จะสามารถแบ่งปันข้อมูลได้ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดี เพราะทำให้การสื่อสารกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ สำหรับความน่าสนใจของ twitter ที่กำลังมาแรงในชั่วโมงนี้ ผมมองว่ามาจากผู้ใช้งาน (user) ที่มีความน่าสนใจ และกระโดดลงมาเล่นพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น คุณอภิสิทธิ์, คุณทักษิณ, Barack Obama, คุณสุทธิชัย, คุณกรณ์ หรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น CNN, The Economist, Chicago Board of Trade ฯลฯ อีกมากมาย เพียงคุณเลือกติดตาม (Follow) บุคคลและหน่วยงานเหล่านั้น คุณก็จะได้รับการ update ข้อมูลข่าวสาร ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวจากท่านเหล่านั้นได้ตลอดเวลา


Where Life and Investment Intersect


ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านข่าวโดยผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวันเวลานั่งรถไฟฟ้า ซึ่งโดยปรกติผมจะอ่านข่าวจากเวบไซต์ของ CNBC, Bloomberg, ESPN แต่ต้องยอมรับว่านับแต่เริ่มใช้งานเจ้า twitter ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พฤติกรรมของผมเปลี่ยนไปโดยเปิดหน้า twitter ของตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะผมจะได้พบกับสรุปข้อมูลที่ผมสนใจไม่ว่าจะเป็นข่าวด้านเศรษฐกิจ และข่าวทั่วโลกจากสำนักข่าวที่ผมเลือก follow, เรื่องเศรษฐกิจไทยจากคุณกรณ์, เรื่องการเมืองจากคุณสุทธิชัย, เรื่องกีฬาฟุตบอลจาก Premier League, รวมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ของเพื่อนสนิทที่ผมติดตาม เรียกได้ว่าเป็นที่ ๆ ทำให้เรื่องที่ผมสนใจทั้งเรื่องงาน เรื่องงานอดิเรก และเรื่องส่วนตัวมารวมอยู่ในที่เดียวกัน


เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจกับการใช้ twitter มาก มาจากการที่ผมได้ลองเสนอท่านรัฐมนตรีคลังผ่านทาง twitter ให้ลองศึกษานโยบาย “Cash for Clunkers” ที่สหรัฐฯ ใช้ในการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และคุณกรณ์ก็ได้ twit กลับมาว่าได้ลองดูแล้ว และพบมีข้อดี รวมถึงข้อเสียหลายประการ ที่ประทับใจคือ มันคงเป็นไปได้ยากมากที่ผมจะได้สื่อสารกับรัฐมนตรีหากไม่มีเจ้าเครื่องมือตัวนี้ และก็ต้องขอขอบคุณ คุณกรณ์ ด้วยที่สละเวลามาใส่ใจกับความเห็นของผม



สำหรับท่านที่ลองเล่น twitter มือใหม่ ผมขอ share บุคคลและหน่วยงานที่ผมติดตาม โดยคุณสามารถใส่ชื่อย่อเพื่อติดตามได้ในกล่อง Search ครับ : คุณอภิสิทธ์ = PM_Abhisit, คุณทักษิณ = Thaksinlive, คุณสุทธิชัย = suthichai, คุณกรณ์ = KornDemocrat, Barack Obama = BarackObama, The Economist = TheEconomist, TIME Magazine = TIME, Pacific Investment Management Company = PIMCO, World Economic Forum = Davos ในขณะเดียวกันผมก็ใช้เวลาว่างในการ Share มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนด้วยเช่นกันโดยหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่อง การลงทุน โดยติดตามได้ที่ http://twitter.com/FundTalk


เจษฎา สุขทิศ, CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.



xxx


Share/Save/Bookmark
Tuesday 11 August 2009

Tuesday 11 August 2009

อัตราผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2552

สำหรับท่านที่สนใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นะครับ ข้อมูลได้รับมาจาก "มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย" เราจะได้ทราบกันว่าเวลาเศรษฐกิจผันผวนเช่นปี 2009 นี้ อสังหาริมทรัพย์ภาคไหนได้รับผลกระทบมากน้อย และให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร


ตามที่มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมระดมสมองเกี่ยวกับการกำหนดอัตราผลตอบแทนในการลงทุน และได้สรุปผลแบบสอบถามแสดงความเห็น ประมวลเป็นอัตราผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2552 จึงขอสรุปเพื่อการอ้างอิง ดังนี้:

โกดัง/โรงงาน 2551 >>> 7-10% 2552 >>> 7-10%
สถานการณ์โดยรวมทรงตัว แต่มีแนวโน้มมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงมาก อาจทำให้การใช้พื้นที่ลดลง

ศูนย์การค้า 2551 >>> 8-10% 2552 >>> 8-12%
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่ำกว่าประเภทอื่นๆ เนื่องจากประชาชนยังจับจ่ายใช้สอย และผู้เช่าลงทุนระยะยาวแต่ศูนย์การค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นต่างชาติ จะได้รับผลกระทบมากกว่า

อาคารสำนักงาน 2551 >>> 7-8% 2552 >>> 7-10%
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจช้ากว่า เนื่องจากมีรายได้ตามสัญญาเช่าผูกพัน (3 ปี) แต่บางทำเลอาจต่ำมากเพียง 4-5%

เซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ 2551 >>> กทม. เกรด A 8-9% กทม. เกรด B 7-8%
2552 >>> กทม. เกรด A 7-10% กทม. เกรดB 6-8%

1.ความเสี่ยงสูงขึ้น จากอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นแต่การเติบโตของชาว ต่างชาติมาทำงานในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก
2.ความเสี่ยงในโครงการที่ให้ลูกค้าเช่าต่ำกว่า 1 เดือน เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายโรงแรมฉบับใหม่ (22 พฤษภาคม 2552) ห้ามเซอร์วิสฯ รับลูกค้าพักต่ำกว่า 1 เดือน

อะพาร์ตเมนต์ 2551 >>> กทม. 6-7% 2552 >>> กทม. 6-8% ความเสี่ยงสูงขึ้น จากอัตราการเข้าพักที่ลดลง จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก คล้ายตลาดเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ แต่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เพราะมีอุปทานสูง มีการแข่งขันสูง

โรงแรม 2551 >>> กทม. 8-10% 2552 >>> กทม. 8-12%
ความเสี่ยงสูงขึ้นจากภาวะการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ผลตอบแทนส่วนหนึ่งจาก Capital Gain รวมค่ารายได้สุทธิจากการดำเนินงาน


อย่างไรก็ตามอัตราที่กำหนดนี้ใช้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ ในกรณีจังหวัดอื่นในภูมิภาคอัตราอาจมีความแตกต่างไป ทั้งนี้มูลนิธิเห็นว่าในการใช้อัตราผลตอบแทนใด ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสมควรอธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาและสมมติฐานที่กำหนดให้ผู้รับบริการได้เข้าใจอย่างแท้จริง โดยอาจแตกต่างไปจากที่มูลนิธิได้ทำการศึกษาไว้ ทั้งนี้การอธิบายวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินถือเป็นมาตรฐานและจรรยาบรรณประการหนึ่งของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินตามที่สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยและสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทยได้กำหนดไว้

สำหรับวิธีการกำหนดอัตราผลตอบแทนนี้ มูลนิธิได้เชิญผู้รู้ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ มาระดมสมองเพื่อพิจารณา โดยนำเกณฑ์จากอัตราผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และบริษัทมหาชนมาประกอบด้วย แต่อัตราผลตอบแทนที่ได้รับการระดมสมองแตกต่างไปจากอัตราผลตอบแทนที่อ้างอิงบ้าง เนื่องจากอาจมีต้นทุนประกอบการที่แตกต่างไป การระดมสมองมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 90 คน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว มูลนิธิได้ส่งผลการระดมสมองให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นโดยมีผู้ตอบแบบสอบถามอีก 111 ราย หลังจากนั้นมูลนิธิจึงได้สรุปผลสุดท้ายและนำเสนอ

อัตราผลตอบแทนในการลงทุนข้างต้น เป็นเพียงอัตราผลตอบแทนที่รวบรวมจากข้อมูลส่วนหนึ่งในตลาดรวมทั้งจากผู้รู้ในแต่ละอุตสาหกรรมเบื้องต้น ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ทำเลที่ตั้ง เกรดของโครงการ ต้นทุนทางการเงินของแต่ละโครงการ ฯลฯ ดังนั้นในการนำไปใช้ยังต้องทำการพิจารณาปรับค่าตามปัจจัยต่างๆ รวมทั้งภาวะตลาด ในขณะนั้น และปัจจัยลบหรือปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทน เช่น ต้นทุนโครงการที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ กฎระเบียบใหม่ๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทน

การนำไปใช้ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ควรพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้วยวิธีการรายได้ มีพื้นฐานมาจากผลตอบแทนของนักลงทุนเป็นสำคัญ ดังนั้นในบางขณะที่อัตราผลตอบแทนในท้องตลาดต่ำมาก เช่น 3-5% ข้อพิจารณาสำหรับการประเมินก็คือว่า ผู้ประเมินจะประเมินเท่ากับราคาตลาดดีหรือว่าประเมินโดยใช้ดุลยพินิจถึงความเหมาะสมในด้านการลงทุน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ

กรณีที่ 1 หากรายได้สุทธิจากการดำเนินงานปีละ 100 ล้านบาท หากใช้อัตราตลาด ณ ขณะนั้นเพียง 5% มูลค่าก็จะได้ที่ 2,000 ล้านบาท

กรณีที่ 2 รายได้จากการดำเนินงานปีละ 100 ล้านบาทเท่าเดิม แต่หากผู้ประเมินถึงพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนผลตอบแทนในการลงทุนตามตลาดเพียง 5% อาจต่ำเกินไป (เพราะหากลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำ อาจไม่มีผู้สนใจซื้อหรือลงทุน) ดังนั้นหากพิจารณาให้น่าลงทุนสมมติ 8% (พิจารณาเพิ่มความเสี่ยงด้านต่างๆ หรือทางเลือกในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เป็นต้น) มูลค่าก็จะได้เพียง 1,250 ล้านบาท (อย่างไรก็ตาม แม้บางช่วงผลตอบแทนจากการดำเนินงานจะต่ำ แต่ก็อาจมีผู้สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะยังเชื่อว่าในอนาคตราคาจะสูงขึ้น ทำให้มี Capital Gain อีกจำนวนหนึ่ง)

นัยข้างต้นแสดงถึง หากรายได้สุทธิจากการดำเนินงานมี 100 ล้านบาท หากจะซื้อเพื่อลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 5% ก็ซื้อได้ที่ 2,000 ล้านบาท แต่หากจะซื้อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ 8% ก็ต้องซื้อเพียง 1,250 ล้านบาท (เพราะซื้อมา 1,250 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนคืนมา 100 ล้านบาท จึงเท่ากับ 8%) ซึ่งในบางขณะที่กองทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยใช้อัตราผลตอบแทนถึง 18% แปลว่านักลงทุนต่างชาติต้องการจะซื้อเพียง 555 ล้านบาท เพราะนักลงทุนเหล่านี้มองประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมาก อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ของนักลงทุนต่างชาติในกรณีนี้ คงเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับอสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่มีความเสี่ยงสูงจากวิกฤติเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม จะกำหนดอัตราผลตอบแทนในการประเมินที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดปัจจุบัน ข้างต้น

ท่านสามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่http://www.thaiappraisal.org/Thai/Standard/standard10.php



โดยสรุปแล้ว Sector ศูนย์การค้า ดูจะทนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ดีที่สุด รวมถึงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจครับ ถ้าไม่มีเงินซื้อทั้งตึก ลองดู Property Funds สิครับ





Share/Save/Bookmark
Thursday 6 August 2009

Thursday 6 August 2009

FundTalk10 การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจ (ภาคจบ)

Simulating Investment strategy from analyzing economic results

ต่อเนื่องจากบล็อก FundTalk9 ที่ผมได้เสนอให้ท่านผู้อ่านติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสองตัวหลัก คือ ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ใน Inflation Report ของแบงค์ชาติ ซึ่งผมมองว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่นักลงทุนทุกกลุ่มในตลาดให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ นอกจากนั้นมีตัวเลขเศรษฐกิจอีกชุดนึงที่ควรรติดตามตัวเลขการเติบโตจริงของประเทศที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ เพื่อให้ทราบว่าการเติบโตจริงของประเทศ และนำไป cross check กับตัวเลขประมาณการของแบงค์ชาติด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแบงค์ชาติประมาณการเศรษฐกิจจะโต 5% แต่หาตัวเลขจริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ ใน 2 ไตรมาสแรกโตแค่ 2% นั่นคือมีโอกาสสูงที่แบงค์ชาติจะปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง ซึ่งแน่นอนจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และค่าเงิน สำหรับรายละเอียดว่าตัวเลขแต่ละชุดจะมีกำหนดออกอย่างไร ความถี่ในการเผยแพร่ และแหล่งข้อมูลในการติดต่อหา สามารถติดตามได้จากบล็อก FundTalk9 ครับ


Your view against Market Consensus

ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของ ผู้จัดการกองทุน สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการติดตามการประกาศของตัวเลขเศรษฐกิจ หากแต่เป็นการมีมุมมอง (Market View) ที่แตกต่างจากสิ่งที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เชื่อ (Market Consensus) ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เชื่อก็มักจะเป็นตัวเลขจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเช่นแบงค์ชาติ หรือสภาพัฒน์ดังที่แนะนำให้ท่านติดตามนั่นเอง

ขอยกเป็นตัวอย่างครับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม แบงค์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในปี 2010 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับตัวเลข GDP growth ปีหน้าจากเฉลี่ย 2.5% เป็น 4.0% และปรับตัวเลขเงินเฟ้อจากเฉลี่ย 2.0% เป็น 4.5% ซึ่งการปรับเพิ่มประมาณการครั้งเดียว 1.5 – 2.5% ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมาก (ถ้าดูย้อนหลังในอดีตจะเห็นว่าการปรับประมาณการแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยจะปรับน้อยกว่านี้)


Before Fact

การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน ก่อนที่ตัวเลขจะประกาศ หากเราทำการวิเคราะห์ก่อนหน้าที่แบงค์ชาติจะปรับประมาณการ และเชื่อว่าจะมีการปรับประมาณการแบบ Positive Surprise เราก็ควรจะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ก่อนที่จะถึงวันที่แบงค์ชาติจะประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (เวลาเศรษฐกิจดี เงินเฟ้อสูงราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาตราสารหนี้จะปรับลดลง)

After Fact

หลังจากตัวเลขการคาดการเศรษฐกิจของแบงค์ชาติประกาศ ตลาดก็จะปรับตัวไปตามการคาดการณ์นั้น หาก ผู้จัดการกองทุน มีมุมมองที่ต่างจากแบงค์ชาติ ยกตัวอย่างเช่น หาก ผู้จัดการกองทุน มองว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตเพียง 2% นั่นคือเชื่อว่าในอนาคตจะมีการลดประมาณการ GDP เราก็ควรจะปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้

โดยสรุป การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน เพื่อชนะตลาด ต้องทำเมื่อนักลงทุน คิดแตกต่างจากสิ่งที่ตลาดคิด (Our view against consensus) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรมีคือมีมุมมองของตัวเอง เพื่อนำไปเทียบกับสิ่งที่ตลาดคิด แล้วนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน นั่นเอง

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ. อยุธยา จำกัด.

xxx





Share/Save/Bookmark
Tuesday 4 August 2009

Tuesday 4 August 2009

Twitter เพื่อ การลงทุน

วันหนึ่งตัดสินใจลองใช้ twitter เพราะอยากตาม twitter war ระหว่างนายกฯ และอดีตนายกฯ เมื่อลองใช้จึงเข้าใจกลไกการทำงานที่น่าสนใจหลายจุดที่แตกต่างจาก Social Networking Tools อย่าง Facebook หรือ HI5 ที่มักจะใช้เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ

twitter จะมีการ post ข้อความที่ส้ั้น ได้ใจความกว่า ไม่เกิน 2 บรรทัด โดยถ้าเนื้อหาที่นำเสนอมีความน่าสนใจ หรือผู้ที่นำเสนอเป็นคนที่สังคมติดตามก็จะมี Follower ติดตามเยอะ ผมเห็นเยอะที่คน หรือบริษัทใช้ twitter เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับ public ต่างจาก Facebook ที่มักจะเป็นการสื่อสารแบบค่อนข้างส่วนตัวระหว่างเพื่อนฝูงกันเอง

พอลองไล่ search หาคนที่เราสนใจ พบว่ามีมากเหนือความคาดหมาย ทั้งนายกฯ, อดีตนายก, คุณกรณ์, คุณสุทธิชัยหยุ่น, The Economist, CNN, Bloomberg, Reuters พอเราเพิ่มคนทั้งหมดนี้เป็นบุคคลที่เราติดตาม เมื่อเราเปิด twitter page ของเราทุกครั้งก็จะได้อ่าน wrap up เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราสนใจ

ที่สำคัญอีกอย่างคือความ "สด" ของเรื่องราวที่เราได้รับ ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับข่าวสารที่ใหม่ และ up to date มาก ๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่นั่งรถไฟฟ้าทุกวัน และมักจะอ่านข่าวผ่าน browser ทางโทรศัพท์มือถือ โดยเมื่อก่อนผมจะเปิดอ่านข่าวของ CNBC และ Bloomberg เป็นหลัก หรือถ้าอ่านหมดแล้วก็จะเช็ค email แต่สัปดาห์นึงที่ผ่านมาเรียกได้ว่าติดเจ้า twitter นี้งอมแงมทีเดียว

หลัง ๆ นอกจากเป็นผู้เสพย์ ก็เริ่มอยากที่จะ Share ให้คนอื่นบ้าง เมื่อเห็นว่าทุกวันงานของ ผู้จัดการกองทุน จำเป็นต้องอ่าน Research เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่ออ่านจบฉบับไหนที่คิดว่าน่าสนใจผมก็สรุปให้เหลือ 2 บรรทัดแล้วก็ twit ซะ 1 ที หรือถ้าผมมีมุมมองในเรื่องเศรษฐกิจ หรือตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ค่าเงิน ก็ twit เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่น ลองติดตามได้นะครับที่ URL >>>

http://twitter.com/FundTalk


ลองดูสิครับเผื่อจะติดใจ ถ้ามี Tips อะไรน่าสนใจก็มาบอกเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.

xxx
Share/Save/Bookmark
Thursday 30 July 2009

Thursday 30 July 2009

FundTalk9 การวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุน

Simulate Investment Strategy from analyzing Economic Indicators


ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “Quarterly Economic Assessment and Outlook” ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาของเรื่องราวในวันนี้ที่อยากจะแลกเปลี่ยนวิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนหนึ่ง ในการที่จะวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ประกาศออกมา และนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยหวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้นำแนวคิดไปใช้เป็นอาวุธเสริมสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนของท่านเอง

ตัวเลขเศรษฐกิจหาจากไหน

หลายท่านอาจคิดว่าต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน จึงจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่จริงทีเดียวสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจครับ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะมีที่มาจากหน่วยงานราชการ ซึ่งสมัยนี้มักจะนำเสนอผ่านเวบไซต์ โดยผู้ลงทุนทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้พร้อมกัน และได้รับข้อมูลที่เหมือนกัน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลัก ๆ ที่น่าติดตาม ผมคิดว่ามีดังนี้ครับ

1. รายงานเศรษฐกิจและการเงินรายเดือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ”) โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายเดือน ทุก ๆ วันทำการสุดท้ายของเดือน โดยครอบคลุมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, อัตราการใช้กำลังการผลิต, เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน, เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน, อัตราเงินเฟ้อ, ภาคส่งออก-นำเข้า ฯลฯ

2. รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ” >>> เลือก “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ”) รายงานนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะจะมีรายละเอียดเชิงลึกของทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีข้างหน้า ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวม และแต่ละภาคส่วน โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายไตรมาส ในเดือน มกราคม, เมษายน, กรกฎาคม, และตุลาคม ของทุกปีครับ

3. ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (http://www.nesdb.go.th/
>>> เลือก “ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม” >>> เลือก “บัญชีประชาชาติ” >>> เลือก “Quarterly Gross Domestic Product”) โดยตัวเลข GDP จะประกาศหลังจากสิ้นไตรมาสประมาณ 2 เดือน เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ปีนี้จะประกาศประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2552 นี้ โดยรายงานฉบับนี้จะลงลึกในรายละเอียดทั้งหมดของอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ประกาศจากหน่วยงานรัฐครับ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขการส่งออก / นำเข้า ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ (http://www.mof.go.th/
), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ประกาศโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (http://www.thaiechamber.com/) เป็นต้น

ตัวเลขเศรษฐกิจหลัก ๆ ที่ควรติดตาม

ถ้าคุณไม่ได้ทำงานที่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างใกล้ชิด คงจะเป็นการยากหากคุณจะต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจทุก ๆ ตัว และทุก ๆ เดือนอย่างที่ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องทำ ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ติดตามเป็นรายไตรมาสครับโดยติดตาม รายงาน 2 ฉบับนี้ครับ

1. “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ” ของแบงค์ชาติ เพื่อให้ทราบว่าประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของแบงค์ชาติเมื่อมองไปข้างหน้าเป็นอย่างไร สำคัญคือการปรับประมาณการครับ ว่า 3 เดือนที่ผ่านมาแบงค์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้าปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจขึ้นหรือลงครั้งละมาก ๆ ก็มักจะมีผลต่อตลาดหุ้น, ตลาดตราสารหนี้, รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2. ตัวเลข GDP จริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ อันนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำไป Cross check กับการประมาณการเศรษฐกิจของแบงค์ชาติได้ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น หากประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนเมษายนบอกว่าปีนี้ เศรษฐกิจจะโตมาก แต่พอตัวเลขจริงของไตรมาส 1 ที่ประกาศในเดือนพฤษภาคม ออกมาไม่ดี เราก็พอจะคาดเดาได้ครับว่าน่าจะการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้างแน่นอน ไม่มาก ก็น้อยครับ



วิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 แบงค์ชาติได้เผยแพร่รายงานภาวะเงินเฟ้อล่าสุดออกมา โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP และเงินเฟ้อของปี 2552 จาก และปรับเพิ่มประมาณการของปี 2553 รายละเอียดตามตารางครับ


ใน BLOG ฉบับหน้าเราจะมาทำการวิเคราะห์กันครับว่าตัวเลขดังกล่าวจะนำไปวิเคราะห์ได้อย่างไร และที่สำคัญคือจะนำตัวเลขนั้นไปจัดกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างไร ติดตามฉบับหน้าครับ



โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด.

xxx


Share/Save/Bookmark
Thursday 23 July 2009

Thursday 23 July 2009

FundTalk8 แบ่งเงิน ไปซื้อ "ทอง"

Allocate money to buy "GOLD"



ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “The Strategic Investment Case for Gold” ที่จัดโดย World Gold Council (http://www.gold.org/) จึงขอนำความรู้ที่ได้รับ มาวิเคราห์ให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูครับ
ปัจจุบันทองคำที่ขุดขึ้นมาบนผิวโลกมีจำนวน 163,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สมมติเราเอาทองทั้งหมดในโลกมากองรวมกันจะได้ขนาดเท่ากับตึกแถวประมาณ 3 – 4 ห้อง ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มากเท่าไรนัก โดยจากทองคำทั้งหมดที่มี ส่วนใหญ่นำไปใช้งานใน 4 ประเภท ดังนี้


51% ใช้เป็นเครื่องประดับ
17% ถือโดยธนาคารกลางเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการพิมพ์เงินตรา
16% เป็นการลงทุนในรูปต่าง ๆ เช่น กองทุน ETF, ทองคำแท่ง, เหรียญทอง เป็นต้น
12% เป็นทองคำที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม Telecom

แนวโน้มที่ดีของทองคำ

จากที่ได้รับฟังความรู้ในเรื่องของตลาดทอง ทั้งในเรื่องของอุปสงค์ และอุปทาน โดยละเอียด ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีนัยสำคัญต่อทิศทางราคาทองคำคือโครงสร้างความต้องการของทองที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในปี 2009 นี้

หลายท่านอาจมองว่าในภาวะทีเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตลาดหลักของทองคำน่าจะชะลอตัวตาม ซึ่ง “จริง” ครับ โดยในปี 2009 ความต้องการดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่าชัดเจน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เช่นในไตรมาส 1 / 2552 ที่ผ่านมาผู้ซื้อทองคำหลักกลายเป็นผู้ซื้อเพื่อการลงทุนสูงถึง 59% ขณะที่ผู้ซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับ และเพื่อการอุตสาหกรรมปรับลดลงเหลือ 33% และ 8% ตามลำดับ

5 เหตุผลสนับสนุนราคาทองคำ

1. ธรรมชาติที่เป็น Safe-haven สำหรับการลงทุน เช่น ในปี 2008 ที่ผ่านมาที่ราคาของหุ้น, ที่ดิน, สินค้าโภคภัณฑ์, น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่ราคาทองคำในปี 2008 ปรับเพิ่มขึ้นจากบาทละ 13,600 บาท เป็น 14,400 บาท คิดเป็น 10.6% และในปี 2009 ราคาทองคำก็ยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

2. ด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความผันผวนของทองคำยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่น รวมถึงสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เช่นตลาดหุ้น

3. ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงที่ดี โดยหากดูจากความสัมพันธ์ของราคาทองคำเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ จะเห็นว่าบ่อยครั้งราคามีทิศทางที่สวนทางกัน เช่นราคาหุ้นกับราคาทองคำในปี 2008 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

4. ทองคำบนโลกมีจำกัด โดย 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณทองคำที่เหมืองทองขุดหาได้ทยอยปรับลดลงเรื่อย ๆ รวมถึงจำนวนแหล่งสายแร่ทองคำที่ค้นพบใหม่ก็ทยอยปรับลดลงจากปีละ 5 - 6 เหมือง มาเป็นปีละ 1 - 2 เหมืองในปัจจุบัน

5. เมื่อมาดูกันที่ตลาดของนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, บริษัทประกัน ซึ่งมีขนาดประมาณ 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2008 ปัจจุบันเป็นการลงทุนในทองคำเพียง 0.58% หรือ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าจากข้อดีของทองคำที่มีในหลายแง่มุม 4 ข้อข้างต้น จะทำให้สัดส่วนการลงทุนในทองของสถาบันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตข้างหน้า

ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ถ้านักลงทุนสถาบันปรับเพิ่มการลงทุนในทองซัก 3 % จากเม็ดเงิน 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเป็นการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับปริมาณทองที่มีอยู่บนโลกทั้งหมดในปัจจุบันพอดี ซึ่งผมเชื่อว่าความต้องการของนักลงทุนจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตครับ ดูอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ สามารถเลือกแบ่งบางส่วนไปลงทุนในกองทุนทองคำได้ มีพนักงานหลายคนครับที่ตัดสินใจแบ่งเงินไปลงกองทุนทองคำถึง 20 – 50% (รวมทั้งตัวผมเองด้วย)

ช่องทางในการซื้อทองเพื่อลงทุน

1. ซื้อทองคำแท่ง (96.5%) - ขอแนะนำ “ฮั่ว เซ่ง เฮง” http://www.huasengheng.com/

2. ซื้อทองคำแท่ง (99.99%) - มีขายอยู่หลายเจ้าในเมืองไทยครับ ขอแนะนำ “Ausiris” http://www.ausiris.co.th/th/

3. ซื้อกองทุนทองคำ - มีหลายบลจ. เสนอขายครับ โดยส่วนใหญ่จะนำไปลงในกองทุน ETF ที่เสนอขายในต่างประเทศ ขอแนะนำ “AYF Gold Fund” http://www.ayfunds.com/th/
โทร 02 - 657 – 5757

4. ซื้อ Gold Future – อันนี้ต้องศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเยอะหน่อยครับ ขอแนะนำให้ศึกษาใน Thai Futures Exchnage http://www.tfex.co.th/th/products/goldfutures.html

สุดท้ายขอฝากกันด้วยรูปของ Safe House ของธนาคาร HSBC ในประเทศอังกฤษ ที่ใช้สำหรับเก็บทองคำแท่งของกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก SPDR Gold Shares โดย State Street Advisors ครับ



ที่มา http://www.spdrgoldshares.com/sites/us/


โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.

xxx

Share/Save/Bookmark
Monday 20 July 2009

Monday 20 July 2009

ชีวิตของคนที่เรียกตัวเองว่า "ผู้จัดการกองทน"

Blog นี้นำมาจากบทความที่เขียนโดย คุณ ณสุ จันทร์สม,CFA. ผู้จัดการกองทุนหุ้นระดับแนวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่งที่ผมเคยมีโอกาสได้ร่วมงานด้วยครับ

มีความเข้าใจกันอย่างทั่วไปว่า การเป็นผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพที่เป็นที่คาดหวังของนักเรียนสาขาการเงินหลายๆคน สำหรับเหตุผลคงหนีไม่พ้นว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีโอกาสได้บริหารเงินที่มีจำนวนมาก มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลมากมายซึ่งใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีข้อที่ควรระวัง ผู้เขียนขอสรุปประเด็นข้อดีและข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อเป็นข้อคิดดังนี้

สำหรับข้อดีของการเป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากการมีโอกาสที่ได้บริหารเงินค่อนข้างเยอะ (แต่ไม่ใช่เงินของตนเอง) คงหนีไม่พ้นการได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนฯต่างๆ การได้เข้าถึงทำให้สามารถทราบถึงวิสัยทัศน์ของคนในระดับผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสนี้ เหตุผลที่ได้เข้าพบก็เนื่องมาจากผู้จัดการกองทุนถือได้ว่าเป็นนักลงทุนสถาบันและมีอำนาจในการตัดสินใจจะซื้อจะขายหลักทรัพย์ใดๆได้ สำหรับข้อดีอื่นๆของการเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนสถาบัน ก็คือการมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่กว้างขวางจากโบรกเกอร์ต่างๆเกือบจะทุกแห่ง เนื่องจากโบรกเกอร์ทุกแห่งคงอยากได้การยอมรับจากผู้จัดการกองทุน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะได้รับค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Brokerage Commission) ก็จะมีมากขึ้น หากจะสรุปสั้นๆก็อาจกล่าวได้ว่าผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีแต่คนเอาใจ จึงมีผู้จัดการกองทุนบางคนอาจหลงลืมไปว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเค้าคืออะไร จริงจริงก็เป็นคนที่นักลงทุนฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง

สำหรับข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีอยู่ไม่น้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคาดหวัง (Expectation) ของนักลงทุน ทั้งในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนต้องตระหนักเสมอว่า เงินที่ลงทุนอยู่นั้นไม่ใช่เงินของตนเอง เงินที่นำมาลงทุนส่วนมากเป็นเงินที่นักลงทุนเก็บออมมาด้วยความยากลำบาก ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในยามเกษียณ หรือเพื่อสำหรับการศึกษาของบุตรธิดาของนักลงทุนนั้น ความคาดหวังจึงมีค่อนข้างสูง หากผู้จัดการกองทุนไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังที่ตกลงกับนักลงทุนในตอนเริ่มต้น ผู้จัดการกองทุนก็คงต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ยากลำบากในการอธิบายให้กับผู้ลงทุนเข้าใจ หากไม่เข้าใจก็อาจรุนแรงถึงการสูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีเหตุผลในการลงทุนทุกครั้ง เพื่อในยามที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังผู้จัดการกองทุนสามารถตรวจเช็คแก้ไขและอธิบายได้ว่าเกิดจากจุดใดและเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในภายภาคหน้า

จากการที่เป็นที่คาดหวังของนักลงทุนว่าจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี ผู้จัดการกองทุนจึงต้องทำงานหนัก อาจกล่าวได้ว่าหนักกว่าเพื่อการลงทุนเงินของตัวเองเสียอีก การทำการบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ งานหลักของผู้จัดการกองทุนคือการเข้าเยี่ยมชมบริษัท Company Visit จากนั้นต้องกลับมาทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จะนำไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ ส่วนตัวของผู้เขียน หากไม่ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบริษัทจะเดินไปในทิศทางใด ก็ขอเลือกที่จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้นๆ เพราะสิ่งที่นักลงทุนสถาบันมีเหนือกว่านักลงทุนทั่วไปก็คือการมีโอกาสได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูง (Access to Management) หากไม่ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรับจ้างลงทุนโดยใช้ความรู้สึกอย่างเดียวและอาจทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมการจัดการที่ผู้จัดการกองทุนนั้นได้รับมา

นอกจากนั้น กว่าจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนได้นั้น เส้นทางก็ถือว่ายากพอสมควร กล่าวคือบุคคลนั้นๆต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าคนคนนั้นมีจรรยาบรรณที่ดีพอหรือไม่ การมีความรู้ความสามารถก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือผู้จัดการกองทุนต้องผ่านการสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program (CISA) ซึ่งการสอบดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์และบริหารการลงทุน โดยเนื้อหาจะครอบคลุมถึงการวัดความสามารถในการประเมินค่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมทั้งเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยเนื้อหาหลักๆ จะประกอบด้วย จรรยาบรรณ และมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Ethical & Professional Standards), เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน (Investment Tools), การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ (Asset Valuation), การบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Portfolio Management) ถึงจะมีหัวข้อใหญ่ๆไม่กี่หัวข้อ แต่ต้องขอบอกก่อนเลยว่าไม่ง่ายเลยที่จะสามารถทำความเข้าใจและนำมาใช้งานได้ทั้งหมด มีผู้จัดการกองทุนหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียน กว่าจะผ่านการทดสอบต่างๆก็ใช้เวลาแรมปี ถ้าต้องทำอีกครั้งอาจจะขอยอมแพ้ไปเลยด้วยซ้ำ

สรุป – มีข้อดีและข้อควรระวังเยอะสำหรับการเป็นผู้จัดการกองทุน หรือที่รู้จักกันว่า Fund Manager เป็นภาระที่หนักหน่วงเอาการเมื่อถึงเวลาต้องเอาเงินของคนอื่นมาบริหาร...เชื่อผู้จัดการกองทุนคนนี้เถอะครับ

โดย คุณ ณสุ จันทร์สม, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา จำกัด
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550
Share/Save/Bookmark

FundTalk7 พันธบัตรไทยเข็มแข็ง น่าลงทุนหรือไม่

How to analyze attractiveness of Government Bond

ในช่วงนี้เรียกได้ว่าร้อนแรงจริง ๆ สำหรับการเปิดจำหน่าย “พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ของรัฐบาล โดยรอบแรกขายไปแล้วขายไปแล้ว 3 หมื่นล้านเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาจากเดิมที่วางแผนไว้เพียง 1.5 หมื่นล้าน โดยสำหรับการเปิดจำหน่ายในรอบที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 คือ ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ ผมมั่นใจว่าขายหมดแน่นอนจากกระแสที่เป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่คนไทยจะได้สัมผัส และรู้จักการลงทุนในตราสารหนี้กันมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พันธบัตรหรือตราสารหนี้ มักจะเป็นการลงทุนของคนที่มีเงินเยอะ และซื้อขายกันครั้งนึงในมูลค่าค่อนข้างมาก ครั้งนี้ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ลดเงินขั้นต่ำลงเหลือเพียง 1 หมื่นบาท และสำหรับล็อตแรกยังมีการกำหนดวงเงินขั้นสูงที่ 1 ล้านบาทด้วย ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ลงทุนเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยการจองซื้อครั้งที่ผ่านมามีผู้สนใจจองซื้อสูงถึง 4 หมื่นกว่าคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้จองซื้อที่ผ่านมาจำนวนหลายเท่าตัว ผลที่ได้รับจากการออกพันธบัตรครั้งนี้นอกจากรัฐบาลจะสามารถระดมเงินได้ตามเป้าหมาย ยังทำให้ตลาดทุนเกิดความลึก (Depth) ที่มากขึ้น กล่าวคือมีจำนวนนักลงทุนที่มากขึ้นด้วย

บทความวันนี้จะขอทำการวิเคราะห์รายละเอียด (Feature) ของพันธบัตรเข็มแข็ง ความน่าสนใจ/ไม่น่าสนใจ ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่น ๆ ที่มีเสนอขายในตลาด หรือ”พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ที่น่าจะมีออกมาให้คนไทยซื้อกันอย่างต่อเนื่อง

วิเคราะห์ผลตอบแทน

ลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรไทยเข็มแข็งครั้งนี้เป็นแบบขั้นบันได กล่าวคือปีที่ 1,2 จ่ายดอกเบี้ย 3% ปีที่ 3 จ่ายดอกเบี้ย 4% และปีที่ 4,5 จ่ายดอกเบี้ย 5% เวลาทำการวิเคราะห์หาผลตอบแทน ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ควรใช้การคำนวณ IRR ครับ ง่าย ๆ เพียงใช้โปรแกรม Excel และกรอกข้อมูลตามรูปครับ เริ่มต้นจากการกรอกวันที่จ่ายเงิน และวันที่รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนในอนาคต และใช้สูตร XIRR ของโปรแกรม Excel ซึ่งคำนวณออกมาแล้วได้ IRR หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3.99% หรือประมาณ 4% นั่นเอง


หลายท่านคงเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่จับหารกันง่าย ๆ ไปเลย เอา 3 + 3 + 4 + 5 + 5 หารด้วย 5 ปี ก็ได้เฉลี่ยปีละ 4% คำตอบคือ เวลาคิดเร็ว ๆ ก็จับหารเลยครับ แต่ที่ลองทำคำนวณอย่างละเอียดให้ท่านดูเพราะ วิธีการคิด IRR นี้ยังมีประโยชน์ในอีกหลายแง่มุม เช่นเวลาเรามีโครงการใด ๆ ที่จะลงทุน การคำนวณ IRR ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อดูว่าผลตอบแทนของการลงทุนของเราเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และก็ต้องไม่ลืมนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรครับ ถ้าโครงการลงทุนที่ท่านอยากทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล ก็อย่าไปทำเลยครับ เอาเงินไปซื้อพันธบัตรยังดีกว่า ความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย

สภาพคล่อง และช่องทางการซื้อขาย
มีข้อกำหนดสำหรับการถือครองพันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ถืออย่างน้อย 6 เดือนครับจึงจะเปลี่ยนมือได้ อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับมองว่าสภาพคล่องของการลงทุนในพันธบัตรต่ำ ซึ่งเป็นความจริงครับ แต่ถ้ามาดูในเรื่องของช่องทางการซื้อขาย ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทางมากขึ้นครับ ช่องทางแรกคือทำการซื้อขายผ่านธนาคารครับ โดยบางธนาคารจะมีบริการรับซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองครับ ช่องทางที่สองคือการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ได้มีการจัดตั้ง BEX หรือ Bond Electronic Exchange ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายตราสารหนี้ได้ผ่านทางตัวแทน คล้าย ๆ กับการซื้อขายหุ้นครับ (สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bex.or.th/) สรุปคือการซื้อพันธบัตรเหมาะกับการถือครองจนครบอายุครับ แต่หากก็สามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้เช่นกัน ผมเชื่อว่าในอนาคตสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับจากการที่เริ่มมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนมากขึ้น



ความน่าลงทุน
หลาย ๆ ท่านได้สอบถามผมว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งน่าลงทุนหรือไม่ คำถามนี้ผมขอตอบเป็น 2 ประเด็นครับ
1.เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 2.90% แต่พันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ผลตอบแทนถึง 3.99% ต่างกันถึง 1.09% เมื่อมองในประเด็นนี้จัดว่าได้ Premium ที่ดี ซึ่งถือว่าน่าลงทุนมากครับ (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรล่าสุดดูได้จาก http://www.thaibma.or.th/)

2.อย่างไรก็ตามหามองทิศทางดอกเบี้ย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากในปีข้างหน้าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งในอนาคตยังมีอีกหลายรุ่นครับถ้าดูจากโปรแกรมการระดมเงินของภาครัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสเยอะทีเดียวครับที่ดอกเบี้ยของพันธบัตรในปีหน้าจะสูงกว่าในเวลานี้ ดังนั้นค่อย ๆ ทยอยซื้อก็เป็นไอเดียที่ดีครับ อย่าลงทุนจนเงินหมดในทันที ของดียังมีอีกเยอะ
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.
xxx

Share/Save/Bookmark
Friday 17 July 2009

Friday 17 July 2009

FundTalk6 คุณว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

Should Government borrow ?

เมื่อวันก่อนผมนั่งแท็กซี่กลับบ้าน พี่คนขับบ่นให้ฟังว่ารัฐบาลนี้เป็นแต่กู้เงิน ทำอย่างอื่นไม่เป็น เช่นเดียวกับที่ผมได้รับทราบจากสื่อต่าง ๆ กระแสสังคมตอนนี้กำลังต่อต้านการกู้เงินของรัฐบาลค่อนข้างหนัก ทั้งหมดเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ ผมจะพยายามชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ความเหมาะสมของรัฐบาลในการที่จะกู้เงิน ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาลครับ

รายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล


รายได้ของรัฐบาลมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลที่เก็บจากรายได้ที่อยู่ในระบบ ภาษีนิติบุคคลเก็บจากบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภค ภาษีศุลกากรที่เก็บจากการนำเข้าส่งออก ฯลฯ หากผมตั้งคำถามว่าใครเสียภาษีเยอะ คำตอบคือผู้ที่มีรายได้เยอะไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหากรายได้เยอะก็ต้องเสียภาษีในฐานที่สูง โดยสูงสุดถึง 37% สำหรับนิติบุคคลที่กำไรเยอะก็ย่อมต้องเสียภาษีเยอะเช่นกัน สรุปสั้น ๆ คือภาษีเก็บจากคนรวย หรือบริษัทที่รวยครับ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งเสียภาษีมาก ในอนาคตก็กำลังมีการผลักดันในเรื่องของภาษีมรดก และภาษีที่ดิน ซึ่งก็ยังคงอยู่ในหลักการเก็บภาษีจากคนรวยเช่นกัน

รายจ่ายของรัฐบาลแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน รายจ่ายประจำโดยมากจะไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่นเงินเดือนของข้าราชการทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป การบริการชุมชนและสังคม การเตรียมความพร้อมสำหรับป้องกันประเทศ ฯลฯ ส่วนรายจ่ายลงทุนโดยมากจะเป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดผลผลิตและเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอนาคต เช่นโครงการรถไฟฟ้า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

การกู้เงินของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อใด และจะใช้คืนเงินกู้ได้อย่างไร
เช่นเดียวกับประชาชนเวลาจะกู้ หรือคืนเงินกู้ครับ รัฐบาลจะมีความจำเป็นต้องกู้เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และการใช้คืนเงินกู้ก็กลับข้างกันคือเมื่อรัฐบาลสามารถหารายได้มากกว่ารายจ่าย ก็สามารถนำส่วนที่เหลือมาใช้คืนเงินกู้ได้ครับ ในทางปฏิบัติจะมีการตั้งเป็นงบประมาณล่วงหน้าปีต่อปีครับ ถ้ารัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุลเมื่อใด หมายถึงใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่เป็นภาษี ส่วนที่ขาดไปก็ต้องทำการกู้ครับ ไม่ว่าจะกู้จากในประเทศหรือนกประเทศ กลับกันถ้าเป็นงบประมาณแบบเกินดุลก็คือการใช้คืนเงินกู้ในอดีตไปในตัว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรทราบคือรัฐบาลไม่ว่าจะภายใต้การนำของพรรคไหน ต่างก็มีการกู้เงินมาทุกยุคทุกสมัยครับ กล่าวได้คือเมื่อใดที่ตั้งงบประมาณขาดดุล เมื่อนั้นต้องมีการกู้เกิดขึ้นแน่นอนครับ

เมื่อไหร่ที่ควรกู้

ตามหลักการที่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นสากล ประเทศควรกู้หรือตั้งงบประมาณขาดดุลเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ และควรใช้คืนเงินกู้หรือตั้งงบประมาณเกินดุลเวลาเศรษฐกิจขยายตัวดี เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แน่นอนว่าภาษีจะเก็บได้น้อยเพราะประชาชนมีรายได้น้อยลง บริโภคน้อยลง บริษัทก็มีกำไรน้อยลง ภาวะแบบนี้รัฐบาลควรตั้งนโยบายแบบขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งสุทธิแล้วเท่ากับเป็นการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น รัฐบาลก็ควรตั้งงบเกินดุลเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และนำภาษีที่ได้รับมากเกินรายจ่ายมาชำระหนี้ที่ก่อไว้ในอดีต คุณล่ะครับคิดว่าเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในภาวะใด ขาขึ้นหรือขาลง และรัฐบาลควรกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเปล่า

วินัยการคลัง และหนี้สาธารณะ

กฎหมายได้ระบุไว้ถึงเพดานการกู้เงินของรัฐบาลจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายประจำปี เป็นที่ชัดเจนว่าเงินกู้ 8 แสนล้านบาทที่รัฐบาลดำริขึ้นนั้นเกินร้อยละ 20 อย่างแน่นอน รัฐบาลจึงกระทำผ่านกฎหมายกู้เงินฉุกเฉิน 2 ฉบับ ซึ่งการกู้เงินย่อมนำไปสู่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) โดยหากกู้เงินทั้ง 8 แสนล้าน จะทำให้ตัวเลขขึ้นไปที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 แต่หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ยังนับว่าตัวเลขหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 100% เข้าไปแล้ว

รัฐบาลกู้ ใครได้ประโยชน์ ใครเป็นคนชำระหนี้

ประเด็นนี้ต่างกันชัดเจนระหว่างเวลาประชาชนเป็นหนี้ กับรัฐบาลเป็นหนี้ กรณีประชาชนกู้เงินไปใช้จ่ายเช่น กู้เงินกองทุนหมู่บ้าน กู้เงินธกส. เวลาต้องใช้เงินคืน ผู้กู้เงินย่อมต้องเป็นผู้ชำระ ง่าย ๆ คือกรณีประชาชนกู้เงิน ใครกู้ ใครเอาเงินไปใช้ คนนั้นต้องเป็นคนจ่าย ต่างกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินไม่ว่าจะไปใช้จ่ายในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งโดยมากหลัง ๆ ก็มักจะเป็นโครงการประชานิยมที่ช่วยคนรายได้น้อย เช่น เช็คช่วยชาติ เงินบำนาญผู้สูงอายุ ประกันราคาพืชผล แต่กรณีรัฐบาลกู้ ผู้ที่ใช้คืนเงินกู้หลัก ๆ คือผู้ที่เสียภาษีเยอะ ง่าย ๆ คือนำภาษีจากคนรวยไปช่วยคนจน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้

แปลกแต่จริงครับที่เวลารัฐบาลทำโครงการให้ประชาชนกู้เงิน ซึ่งโดยมากเป็นผู้มีรายได้น้อย เกิดเป็นหนี้สินภาคครัวเรือน ประชาชนที่ได้กู้ส่วนใหญ่มีความสุข รู้สึกว่าได้รับโอกาส ทั้ง ๆ ที่ทำให้ตัวเองเป็นหนิ้เป็นสิน ขณะที่เวลารัฐบาลจะกู้ ซึ่งผู้ต้องชำระคืนเงินกู้คือคนหรือบริษัทที่เสียภาษี ยิ่งรวยมากยิ่งต้องเสียภาษีมาก กลับเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีน้อย แต่เป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการจับจ่ายของรัฐบาล

คุณล่ะครับคิดว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx



Share/Save/Bookmark

FundTalk5 เข้าใจกองทุนบำนาญ (บ้าง...)

Understanding nature of Pension funds

เนื้อหาที่เขียนขึ้นวันนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจลักษณะ ธรรมชาติ จุดประสงค์ ของกองทุนบำนาญให้มากขึ้น เพื่อประกอบเป็นความรู้ในการที่จะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเราในวันนี้อย่างไม่ปรุงแต่ง เพราะบางครั้ง คนเราชอบสรุปความอัตโนมัติว่าสิ่งใด “ผิด” หรือสิ่งใด “ถูก” จากความรู้สึกของเราเอง โดยละเลยความจริงบางประการไป

กองทุนบำนาญมีหลายประเภท เช่น สำหรับพนักงานภาคเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในอนาคตมีการผลักดันให้เกิดกองทุนบำนาญแห่งชาติ นอกจากนี้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ก็มีเป้าประสงค์คล้ายกับเป็นกองทุนบำนาญประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของกองทุนบำนาญคือเป็นเงินกองทุนที่ออมไว้ใช้เมื่อยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกคนว่าเมื่ออยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตแล้วนั้น จะมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือสุขสบาย

เงินเฟ้อคืออุปสรรคของชีวิตยามเกษียณ

ธรรมชาติของการออมเงินใช้ในยามเกษียณคือ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยทั่ว ๆ ไปเราจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อายุประมาณ 25 ปีและเกษียณที่อายุประมาณ 55 ปี นั่นคือระยะเวลาของการลงทุนนานถึง 30 ปี เป้าหมายของเงินลงทุนดังกล่าวนอกจากจะต้องพยายามสงวนเงินต้นของการลงทุนแล้ว ยังต้องสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อรักษามูลค่าของเงินให้คงอยู่อีกด้วย อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกของเงินเฟ้อที่ข้าวของราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะเขียนบทความอยู่ผมหันไปถามพี่ที่บริษัท ได้คำตอบว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วข้าวแกงจานละ 7 บาท วันนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 400% สมมติว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าราคาข้าวแกงยังคงเป็นไปตามอัตรานี้ ราคาก็คงจะขึ้นไปที่ 120 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 5%

แล้วเงินที่เราออมไว้ใช้ยามเกษียณวันนี้ล่ะครับ สมมติว่าเราออมไว้ 30 บาท เมื่อเราเกษียณจะขึ้นไปถึง 120 บาทเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หมายความว่าเงินที่สะสมไว้วันนี้มีมูลค่าที่ต่ำลง นำไปใช้จ่ายได้น้อยลง ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ทุกท่านต้องการ โดยสรุปคือเป้าหมายของเงินลงทุนระยะยาวเพื่อยามเกษียณ คือสร้างผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็รักษาเงินต้นของการลงทุนให้คงอยู่ ภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวหลายสิบปี
มองสั้น ๆ หรือมองยาว ๆ

ถ้าท่านตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ผู้จัดการกองทุนสามารถทำให้ท่านได้โดยการนำเงินไปฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ซึ่งเงินลงทุนโดยรวมในแต่ละปีก็จะมีโอกาสติดลบน้อยมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีโอกาสที่จะแพ้เงินเฟ้อเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ที่ผมอยากจะถามท่านคือ ทำไมผลตอบแทนในแต่ละปีถึงต้องห้ามติดลบล่ะครับ ในเมื่อเงินลงทุนเรามีอายุยาวหลายสิบปี และการมาตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ก็เป็นการบังคับให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ผมเห็นว่าการประเมินผลตอบแทนของกองทุนบำนาญโดยดูผลตอบแทนระยะยาว เช่น 10 – 20 ปี จะดูมีเหตุผลกว่าครับ

ตัวอย่างการลงทุนของเงินบำนาญในต่างประเทศ เช่นประเทศนอร์เวย์ที่มีเงินกองทุนบำนาญสูงมาก ของเค้านำเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกสูงถึงประมาณ 60% เพราะเค้ามองถึงผลตอบแทนระยะยาวครับ ว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ชนะเงินเฟ้อ และยอมรับได้กับความผันผวนระยะสั้น เช่นผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง ผมไม่เห็นประชาชนประเทศนอร์เวย์ออกมาลุกฮือเลยครับเวลาที่ผลตอบแทนปี 2551 ติดลบ

คุณเลือกแบบไหน

สมมติถ้าลงทุนแบบเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนปีละ 3% เป็นเวลา 30 ปี เงิน 30 บาทวันนี้จะเท่ากับ 73 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งจะเอาไปซื้อข้าวแกงจานเดียวยังไม่ได้เลยครับ ขณะที่หากลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง เช่นได้ผลตอบแทนปีละ 7% เงิน 30 บาทในวันนี้จะกลายเป็น 228 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าครับ ซึ่งสามารถซื้อข้าวแกงได้เกือบ 2 จาน
ที่บอกได้แน่นอนคือมันไม่มีในโลกหรอกครับที่จะหาโครงสร้างการลงทุนที่แต่ละปีก็ห้ามขาดทุน ระยะยาวก็ต้องได้กำไร เยอะ และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ (Low Risk, High Return) คุณต้องเลือกครับถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ก็ต้องทนความผันผวนในระยะสั้นได้ (High Risk, High Return) หรือถ้าไม่ต้องการความผันผวนในแต่ละปี ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในระยะยาว (Low Risk, Low Return) ประเด็นของผมในวันนี้คือในเมื่อเงินกว่าเราจะใช้อีกเป็นสิบ ๆ ปี แล้วจะมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนปีต่อปีจนเกินจำเป็นทำไม

จากนี้ไปสังคมต้องเลือกครับ ระหว่าง

1)ผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคือเงินคุณมีมูลค่าลดลง

2)ผลตอบแทนแต่ละปีติดลบได้ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคุณมีเงินที่มีมูลค่าสูงขึ้นนำไปใช้สอยได้มากขึ้น

ถ้าผมเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก ผมเลือกทางที่ 2 แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพาไปทางที่ 1 ครับ ซึ่งผมก็คงต้องยอมรับตามนั้นครับ คุณล่ะครับ ถ้าเลือกได้จะพาคนไทยไปทางไหน ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx

Share/Save/Bookmark
Thursday 16 July 2009

Thursday 16 July 2009

FundTalk4 REBALANCING - เทคนิค “ซื้อถูก ขายแพง”

Portfolio Rebalancing Technique

“หุ้นช่วงนี้ลงมาเยอะเลย อย่าเพิ่งซื้อ นักวิเคราะห์กำลังจะปรับประมาณการปีนี้ลงอีก”

“ช่วงนี้หุ้นเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว เริ่มมีความน่าลงทุน”

“ปีที่แล้วขาดทุนไปเยอะเลย คงหยุดเล่นไปอีกซักพัก”

ผมมักได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อน ๆ ที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นการสะท้อนพฤติกรรมการมองไปข้างหลัง เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน แต่บ่อยครั้งกลับไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
แนวทางข้างต้นผมเรียกว่าเป็นการลงทุนแบบ Momentum คือรอให้ตลาดมีสัญญาณก่อนจึงค่อยปรับตัวตาม เช่น ถ้าหุ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นซักระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นสัญญาณเข้าลงทุน หรือถ้าหุ้นเริ่มตกซักระยะ ก็เป็นสัญญาณในการขายหุ้น ซึ่งกลยุทธ์แบบ Momentum ดังกล่าวจะใช้ได้ผลในตลาดแบบ Trendy market กล่าวคือเวลาขึ้นหรือลงแต่ละรอบเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาว ๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบสไตล์ Momentum เพราะความผันผวนของตลาดหุ้นไทยมีค่อนข้างมาก บ่อยครั้งถ้าเรารอให้หุ้นขึ้นแล้วค่อยซื้อ หุ้นลงค่อยขาย กลับให้ผลลัพธ์เป็นการ “ซื้อแพง ขายถูก”
แนวทางที่ผมจะขอเสนอในวันนี้เป็นหลักการปรับพอร์ตแบบ ซื้อถูก - ขายแพง ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมใช้กับการลงทุนส่วนตัว และแนะนำให้กับเพื่อนและลูกค้าแล้วได้ผลที่ดี โดยวิธีการเป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าเรามีเงินลงทุนอยู่ในหุ้น 10,000 บาท โดยผมกำหนด 20% เป็นเปอร์เซนต์เป้าหมายในการปรับพอร์ต และเงินลงทุนเป้าหมายคือ 10,000 บาท กฎมีดังนี้ครับ

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 20% หรือขึ้นมาเป็น 12,000 บาท ให้ขายทำกำไรออกมา 2,000 บาท เพื่อให้เงินลงทุนเหลือ 10,000 บาทเท่าเดิม และเก็บเงินสดไว้

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับลดลง 20% หรือเหลือ 8,000 บาท ให้นำเงินสด 2,000 บาทมาลงทุนเพื่อให้เงินลงทุนรวมเป็น 10,000 บาท

- ทำตามแนวทางนี้ไปเรื่อย ๆ จนเมื่อใดหากมีเงินสดในมือเยอะขึ้น หรือมีเงินเก็บพร้อมจะลงทุนมากขึ้น ให้ปรับเงินลงทุนเป้าหมายขึ้น/ลงได้ ตามความเหมาะสม

ลองทดสอบย้อนกลับไปซัก 3 ปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2006 นะครับ

หากไม่ทำการ Rebalance ใด ๆ ผลตอบแทนการลงทุนไม่รวมเงินปันผลอยู่ที่ ขาดทุนประมาณ 20% จาก SET Index ณ ระดับวันลงทุนเริ่มต้นที่ 713 แต่หากทำการปรับพอร์ตตามกลยุทธ์ข้างต้นจะขาดทุนเพียง 10% เท่านั้น โดยมีโอกาสขายทำกำไร 3 ครั้ง และซื้อของถูกอีก 3 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวที่ผมชื่นชอบแนวทางการลงทุนแบบ Rebalancing เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้ “ซื้อตอนลง และขายตอนขึ้น” หรือเรียกได้ว่า “ซื้อถูก ขายแพง” ครับ นอกจากนี้เวลาราคาปรับเพิ่มขึ้นผมก็มีโอกาสได้ขายทำกำไรและเตรียมเงินสดไว้ลงทุนเมื่อราคาปรับตัวลดลง

แนวทางนี้ใช้ได้กับการลงทุนในตราสารหนี้, โภคภัณฑ์ และจัดพอร์ตการลงทุนโดยรวม (Asset Allocation) ได้ด้วยครับ โดยต้องกำหนดเปอร์เซ็นต์การปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความผันผวนของแต่ละประเภทของหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ที่ผมนำเสนอในวันนี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีในตลาด Trendy market แบบหลาย ๆ ปีเช่น ขาลงในช่วงปี 1996 – 1998 หรือขาขึ้นในปี 2002 – 2003 ครับ แต่ผมก็คงจะไม่เปลี่ยนแนวทางการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะแนวทางแบบ Rebalancing ให้ความสบายใจกับผมในการจัดพอร์ตครับ เมื่อก่อนเวลาตลาดขึ้นก็เครียดเพราะรู้สึกว่าตกรถไฟ เวลาตลาดลงก็เครียดเพราะขาดทุน เดี๋ยวนี้เวลาตลาดขึ้นผมชอบ และลุ้นให้ขึ้นจนถึง 20% เพื่อจะได้ขายทำกำไร เวลาตลาดลงก็มีความสุขครับอยากให้ลงเยอะ ๆ ถ้าลงถึง 20% ก็คือช่วงเวลาที่จะได้ Shopping ของดีราคาถูก เรียกได้ว่า จะขึ้นหรือจะลงก็สนุกไปกับมันครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx


Share/Save/Bookmark
Wednesday 15 July 2009

Wednesday 15 July 2009

FundTalk3 การเลือกซื้อหุ้นกู้อย่างมีหลักการ

Principal to select Corporate Debenture

หลาย ๆ ท่านคงจะได้เคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้ปูนซีเมนต์ไทย, หุ้นกู้ปตทสผ. ฯลฯ ที่ทยอยเสนอขายอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจะขอเสนอแนวทางในการเลือกหุ้นกู้เอกชนอย่างมีหลักการ ซึ่งน่าจะพอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของท่านได้ครับ

ตราสารภาคเอกชนจัดเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้จะสูงกว่าพันธบัตร โดยหุ้นกู้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น FITCH, TRIS โดยอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุดคือ AAA และอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment grade คือ BBB – ขึ้นไป

ยกตัวอย่างเช่น หากพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีมีดอกเบี้ยที่ 3.34% หุ้นกู้ก็ควรได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าพันธบัตร โดยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของหุ้นกู้กับดอกเบี้ยของพันธบัตรจะเรียกว่า Credit Spread ซึ่งเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ช่วยชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่ได้รับ Ratings ต่ำกว่าย่อมหมายถึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่า หุ้นกู้นั้นก็ควรจะมี Credit Spread ที่สูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ที่สำคัญคือท่านในฐานะนักลงทุนรายย่อย จะทราบถึงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และ Credit spread ของหุ้นกู้เอกชนได้จากแหล่งข้อมูลใด ผมขอแนะนำให้ท่านศึกษาข้อมูลได้จากเวบไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association) ครับ

รูปที่ 1 Corporate Bond Yield Curve
URL: http://www.thaibma.or.th/ เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Corporate





รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึง Credit Spread ปัจจุบันของหุ้นกู้ในแต่ละช่วงอายุ และระดับ Ratings ต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 – 5 ปี ระดับ A มีระดับ Credit Spread ที่ 176 bps หรือ 1.76% ส่วนระดับ BBB อยู่ที่ 367 bps หรือ 3.76%

-------------------------------------------------------------------


รูปที่ 2 ThaiBMA Government Bond Yield Curve
URL: www.thaibma.or.th เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Government



เมื่อทราบข้อมูล Credit Spread แล้ว ให้นำค่า Credit Spread ที่ได้ไปบวกกับดอกเบี้ยของพันธบัตร ตามรูปที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น หากท่านกำลังศึกษาเพื่อจะลงทุนในหุ้นกู้ระดับ A ที่อายุประมาณ 5 ปี ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 มิ.ย. ดอกเบี้ยพันธบัตร 5 ปีอยู่ที่ 3.34% และ Credit Spread อยู่ที่ 1.76% ดังนั้นดอกเบี้ยที่เหมาะสมก็ควรอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 3.34 + 1.76 = 5.10%

หลักการที่ผมนำเสนอในวันนี้จะช่วยให้ท่านสามารถคำนวณหาดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับหุ้นกู้แต่ละรุ่นที่เสนอขายในตลาดได้ เช่น หากเราได้รับการเสนอขายหุ้นกู้ 5 ปีระดับ A ที่ดอกเบี้ย หรือ Yield to maturity ที่ 6.00% ก็น่าจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ Fair value อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของแต่ละบริษัทที่เราจะลงทุนอย่างละเอียดก็มีความสำคัญครับ เพราะ Ratings นั้นไม่ใช่ว่าได้ A แล้วจะคงอยู่ตลอดไป ถ้าฐานะการเงินด้อยลง บริษัทนั้นก็จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน

ในโลกของการลงทุนนั้น “ยิ่งรู้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ” นะครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA. ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx


Share/Save/Bookmark
Thursday 9 July 2009

Thursday 9 July 2009

FundTalk2 “Yield” นั้นสำคัญไฉน

How Yield is important

หลาย ๆ ท่านที่เป็นนักลงทุนคงติดตามปัจจัย และตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต GDP, เงินเฟ้อ, ค่าเงิน, ดอกเบี้ย วันนี้ผมขอนำเสนออีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวแปรอื่นที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ “ยิลด์ (Yield)” ในที่นี้หมายถึง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

ในเชิงคำนวณ

นิยามของ Yield (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล / ตราสารหนี้) แบบเข้าใจง่าย คือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือพันธบัตรนั้น ๆ ในกรณีที่ถือจนครบอายุ (Hold to maturity) พันธบัตรแต่ละตัวจะมีคูปองหน้าตั๋วของตัวมันเอง เช่น พันธบัตร LB145B (ครบอายุปี 2014 รุ่น B หรืออายุคงเหลือประมาณ 5 ปี) มีคูปองหน้าตั๋วอยู่ที่ 5.25% นั่นคือถ้าซื้อพันธบัตรที่ราคาพาร์ 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5.25% แต่ปัจจุบัน Yield ของพันธบัตรดังกล่าวที่ซื้อขายในตลาดอยู่ที่ระดับ 3.50% ถ้าไปดูราคาตลาดของพันธบัตรใบนี้จะพบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับ 1,100 บาท นั่นคือราคาซื้อขายของตราสารใบนี้สูงกว่าราคาพาร์ (Premium) โดยนักลงทุนที่ซื้อต้องจ่ายเงินลงทุน 1,100 บาท และได้คูปองปีละ 5.25% (คิดเป็น 52.5 บาทต่อปี) โดยเมื่อพันธบัตรครบอายุในปี 2014 ก็สามารถนำไปไถ่ถอนคืนเงินต้นได้ที่ราคา 1,000 บาท

คิดเป็นตัวเลขคร่าว ๆ คือ ลงทุนวันนี้ 1,100 บาท อีก 5 ปีไถ่ถอนได้เงินคืน 1,000 บาท ก็คือขาดทุนปีละ 20 บาท เมื่อมารวมกับดอกเบี้ยปีละ 52.5 บาท Net แล้วคือได้ดอกเบี้ยประมาณ 32.5 บาท (เมื่อคิดรวมกับหลัก Present Value แล้วจะได้เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีหรือ Yield 3.50% พอดี)




ความสำคัญของ Yield
Yield นับเป็นดอกเบี้ยตัวหนึ่งที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาด เช่นในปี 2008 ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ที่ Yield พันธบัตร 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 3% ไปถึงระดับเกือบ 5% (ตามรูป) เนื่องจากในช่วงนั้นเงินเฟ้อของไทยขึ้นไปถึงประมาณ 9% ทำให้นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงค์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยได้มาก ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. แบงค์ชาติก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยจาก 3.25% ไปสู่ 3.75% โดยสรุปคือ Yield มักจะเป็น Leading indicator ที่ดีของทิศทางดอกเบี้ยของประเทศนั่นเอง

นัยต่อการลงทุน และการทำธุรกิจ
ในภาวะปัจจุบันที่ Yield 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 2% นำหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หากเห็นว่า Yield เป็นแนวโน้มขาขึ้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็ควรลงทุนในระยะสั้น เพื่อรอให้ Yield ขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงกว่านี้ค่อยล็อคเงินลงทุนยาวและได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (ถ้าถือตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว Yield ปรับขึ้น จะทำให้มูลค่าตามราคาตลาดลดลง หรือขาดทุน) ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราก็ควรนำไปเป็นปัจจัยลบตัวหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีภาระหนี้สินเยอะ หรือแม้แต่ภาคอสังหาที่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และสุดท้ายในมุมของผู้ประกอบการที่ต้องใช้สินเชื่อ เมื่อเห็นดังนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำการขอสินเชื่ออายุค่อนข้างยาว หรือพยายามจัดสินเชื่อให้เป็นดอกเบี้ยคงที่เพื่อกันความเสี่ยงของต้นทุนดอกเบี้ยในอนาคต
สรุปแล้ววันนี้ผมจะมาบอกว่า “Yield” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตามและใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ยิ่งรู้ได้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบนะครับ (ติดตามการเคลื่อนไหวของ Yield และรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใน http://www.thaibma.or.th/ และ http://www.bot.or.th/)
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด
xxx

Share/Save/Bookmark
Wednesday 8 July 2009

Wednesday 8 July 2009

FundTalk1 ลงทุนอะไรดีในภาวะดอกเบี้ยสุดถูก

Investing on what in the cheap rate era

นับแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สหรัฐอเมริกาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 5.25 ลงมาทรงตัวที่ระดับร้อยละ 0 – 0.25 ในเดือนธันวาคม 2008 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสหภาพยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคโอเชเนียอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่คนมักจะมองว่าเป็นประเทศที่ดอกเบี้ยสูงก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยมาที่ระดับร้อยละ 3 และยังมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีกในปี 2552

ในส่วนของประเทศไทยก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2008 จากระดับร้อยละ 3.75 สู่ระดับร้อยละ 1.25 ในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อสมัยปี 2003 ที่ผ่านมา โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 0.50 และอัตราดอกเบี้ยฝากประจำลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 0.75 – 1.00 หากดูจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 อันดับแรก

หลายท่านคงเกิดคำถามว่าจะนำเงินไปทำอะไรดีในภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ คำตอบที่ตายตัวคงไม่มีเพราะการลงทุนจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน โดยวันนี้ผมจะขอมาแชร์มุมมองต่อสินทรัพย์แต่ละประเภทครับ

อย่างแรกคือผมคิดว่าการลงทุนในเงินฝากประจำ หรือตราสารหนี้แบบล็อคยาวไม่น่าเหมาะ เพราะดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน การล็อคยาวควรทำเมื่อดอกเบี้ยสูงและมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะลดลงมากกว่า เรียกว่าถ้าไปฝากยาวตอนนี้และดอกเบี้ยขึ้นก็จะเสียโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไปเยอะทีเดียว ถ้าจะฝากเงินผมว่าฝากสั้น ๆ ดีกว่าครับ แต่ถ้าฝากสั้น ๆ ดอกเบี้ยต่ำเกินไปก็คงต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ ที่เหมาะกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวท่านเอง

ในส่วนของตลาดหุ้นผมคิดว่าการลงทุนตอนนี้เป็นจังหวะและโอกาสที่ดีเนื่องจากราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ถูก และพื้นฐานของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียยังแข็งแรง เห็นมาหลายรอบแล้วครับตลาดไทยที่ตกแรง ๆ ซึ่วมักจะมาประมาณ 10 ปีหน ตั้งแต่ปี 90 ที่ SET ตกลงมาจากประมาณ 1100 จุดมาเหลือ 500 กว่าจุด ถัดมาก็ยุคลอยตัวค่าเงินช่วงประมาณปี 95 – 97 ที่ดัชนีรูดจาก 1700 เหลือ 200 และปี 2008 ก็เป็นอีกรอบที่ดัชนีปรับลงมาจาก 900 เหลือ 380 ทั้งสามรอบที่ผ่านมาถ้าใครแข็งใจกล้าลงทุนตอนที่มันร่วงลงมาก็เรียกได้ว่าเป็น “โอกาสทอง” ในการลงทุนทีเดียวหากดูการฟื้นตัว 2 – 3 ปีหลังจากนั้น สำหรับรอบนี้หุ้นขึ้นจาก 380 มา 580 ผมว่ายังไม่สายครับ

สำหรับผู้ที่ไม่ชอบลงทุนในหุ้นผมคิดว่า “ทองคำ” น่าสนใจครับ เวลาเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่ดี มักจะเห็นการไหลผ่านของเงินไปสู่การซื้อทองคำอยู่เสมอ เช่นปลายปี 2008 นับแต่ Lehman Brothers ยื่นล้มละลาย และตลาดการเงินปั่นป่วนอย่างมาก ราคาทองได้ดีดตัวขึ้นอย่างแรงจาก 723 USD/Ounce มาที่ประมาณ 1,000 USD/Ounce อีกขาหนึ่งเวลาเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าอาจจะฟื้นตัว หรือนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ราคาทองก็มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะคนต้องการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สนับสนุนต่อราคาทองครับ ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศอินเดีย และการสะสมทองคำในอัตราส่วนที่มากขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะธนาคารกลางจีน ที่เริ่มทยอยลดการถือครองเงินสำรองเป็นเงินสกุล USD และเพิ่มสัดส่วนการถือทองคำให้มากขึ้น

สำคัญมากคือการเรียนรู้เรื่องการลงทุน และเข้าใจความเสี่ยงและโอกาสได้รับผลตอบแทนของเงินลงทุนของท่าน การหาความรู้ตรงนี้คุ้มค่าแน่นอน เพราะนอกจากจะช่วยในการบริหารเงินเก็บของคุณให้มีประสิทธิภาพ ยังสามารถช่วยดูแลทรัพย์สินในกับคนที่ท่านห่วงใยได้อีกด้วยครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx
Share/Save/Bookmark
Tuesday 30 June 2009

Tuesday 30 June 2009

About

"บล็อกเพื่อซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง การลงทุน โดย ผู้จัดการกองทุน"

เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด (AYF)

ผมได้นำบทความ "คุยกับผู้จัดการกองทุน" ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (วันพฤหัสบดี) ฉบับสมบูรณ์มารวมอยู่ในบล็อกนี้ (เวลาตีพิมพ์บางครั้งอาจถูกลดทอนรูปประกอบ หรือเนื้อหา ขึ้นอยู่กับความจำกัดของพื้นที่ในแต่ละวัน)


นอกจากบทความที่ผมเขียนเป็นประจำ ผมจะมีการนำบทความที่ผมชอบ และเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานของผู้จัดการกองทุน และวิธีกำหนดกลยุทธ์การลงทุนจากประสบการณ์เท่าที่ได้เคยสัมผัสมา ทั้งนี้ผมยินดีที่จะตอบคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือรับคำแนะนำจากเพื่อน ๆ ผู้อ่านทุกท่านครับ
Share/Save/Bookmark

Bio

คุณ เจษฎา สุขทิศ, CFA. ผู้จัดการกองทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด ("บลจ. AYF") จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (GPAX 4.00)

คุณ เจษฎา ได้เข้าสู่ธุรกิจจัดการกองทุนในปี 2545 กับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีโอเอ จำกัด ("BoAAM") ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มธนาคาร ABN AMRO ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อ และเจ้าของเป็น บลจ. ยูโอบี (ไทย) จำกัด ("UOBAM") ทั้งนี้ คุณ เจษฎา ได้เริ่มปฏิบัติงาน "ผู้จัดการกองทุน" ในปี 2547

จากนั้นในปี 2548 คุณ เจษฎา ได้ย้ายสังกัดไปอยู่ที่ บลจ. อยุธยา เจเอฟ จำกัด ("AJF")ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ JPMorgan Asset Management ซึ่งต่อมาในปี 2550 หลังจากที่กลุ่ม GE ได้เข้ามาซื้อกิจการของ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กลุ่ม JPMorgan ก็ได้ขายหุ้นของ AJF ให้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือหุ้นทั้งหมด

คุณ เจษฎา มีประสบการณ์ทำงานส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการกองทุนตราสารหนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยบริหารกองทุนทั้งประเภทกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลของนักลงทุนสถาบัน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณ เจษฎา มีความถนัดในการใช้อนุพันธ์ในการปรับกลยุทธ์การลงทุน ให้สอดคล้องกับมุมมองต่อภาวะตลาด โดยใช้ ธุรกรรม Interest Rate Derivatives เช่น Swaps

นอกจากการบริหารกองทุนตราสารหนี้แล้ว คุณเจษฎา มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนหุ้นในขณะที่ร่วมงานกับ UOBAM และ AJF และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความแปลกใหม่เข้าสู่ตลาดกองทุนของประเทศไทย เช่น กองทุนรวมที่ใช้อนุพันธ์เพื่อการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม, กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

คุณ เจษฎา แต่งงานกับ คุณ พรภัค โรจน์ชนะโยธิน ในปี 2551 และมีงานอดิเรก คือการทำร้านอาหาร "La Lune Bar & Restaurant" ร่วมกับเพื่อน ๆ โรงเรียน เซนต์คาเบรียล และการเขียนบทความ /บล็อก เกี่ยวกับการลงทุน
Share/Save/Bookmark