หลาย ๆ ท่านคงจะได้เคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้ปูนซีเมนต์ไทย, หุ้นกู้ปตทสผ. ฯลฯ ที่ทยอยเสนอขายอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจะขอเสนอแนวทางในการเลือกหุ้นกู้เอกชนอย่างมีหลักการ ซึ่งน่าจะพอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของท่านได้ครับ
ตราสารภาคเอกชนจัดเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้จะสูงกว่าพันธบัตร โดยหุ้นกู้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น FITCH, TRIS โดยอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุดคือ AAA และอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment grade คือ BBB – ขึ้นไป
ยกตัวอย่างเช่น หากพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีมีดอกเบี้ยที่ 3.34% หุ้นกู้ก็ควรได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าพันธบัตร โดยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของหุ้นกู้กับดอกเบี้ยของพันธบัตรจะเรียกว่า Credit Spread ซึ่งเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ช่วยชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่ได้รับ Ratings ต่ำกว่าย่อมหมายถึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่า หุ้นกู้นั้นก็ควรจะมี Credit Spread ที่สูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ที่สำคัญคือท่านในฐานะนักลงทุนรายย่อย จะทราบถึงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และ Credit spread ของหุ้นกู้เอกชนได้จากแหล่งข้อมูลใด ผมขอแนะนำให้ท่านศึกษาข้อมูลได้จากเวบไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association) ครับ
รูปที่ 1 Corporate Bond Yield Curve
URL: http://www.thaibma.or.th/ เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Corporate
รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึง Credit Spread ปัจจุบันของหุ้นกู้ในแต่ละช่วงอายุ และระดับ Ratings ต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 – 5 ปี ระดับ A มีระดับ Credit Spread ที่ 176 bps หรือ 1.76% ส่วนระดับ BBB อยู่ที่ 367 bps หรือ 3.76%
-------------------------------------------------------------------
รูปที่ 2 ThaiBMA Government Bond Yield Curve
URL: www.thaibma.or.th เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Government
หลักการที่ผมนำเสนอในวันนี้จะช่วยให้ท่านสามารถคำนวณหาดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับหุ้นกู้แต่ละรุ่นที่เสนอขายในตลาดได้ เช่น หากเราได้รับการเสนอขายหุ้นกู้ 5 ปีระดับ A ที่ดอกเบี้ย หรือ Yield to maturity ที่ 6.00% ก็น่าจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ Fair value อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของแต่ละบริษัทที่เราจะลงทุนอย่างละเอียดก็มีความสำคัญครับ เพราะ Ratings นั้นไม่ใช่ว่าได้ A แล้วจะคงอยู่ตลอดไป ถ้าฐานะการเงินด้อยลง บริษัทนั้นก็จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน
ในโลกของการลงทุนนั้น “ยิ่งรู้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ” นะครับ
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA. ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด
xxx
No comments:
Post a Comment