* Google Analytics start * Google Analytics end
Thursday 30 July 2009

Thursday 30 July 2009

FundTalk9 การวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุน

Simulate Investment Strategy from analyzing Economic Indicators


ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “Quarterly Economic Assessment and Outlook” ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาของเรื่องราวในวันนี้ที่อยากจะแลกเปลี่ยนวิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนหนึ่ง ในการที่จะวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ประกาศออกมา และนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยหวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้นำแนวคิดไปใช้เป็นอาวุธเสริมสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนของท่านเอง

ตัวเลขเศรษฐกิจหาจากไหน

หลายท่านอาจคิดว่าต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน จึงจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่จริงทีเดียวสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจครับ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะมีที่มาจากหน่วยงานราชการ ซึ่งสมัยนี้มักจะนำเสนอผ่านเวบไซต์ โดยผู้ลงทุนทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้พร้อมกัน และได้รับข้อมูลที่เหมือนกัน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลัก ๆ ที่น่าติดตาม ผมคิดว่ามีดังนี้ครับ

1. รายงานเศรษฐกิจและการเงินรายเดือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ”) โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายเดือน ทุก ๆ วันทำการสุดท้ายของเดือน โดยครอบคลุมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, อัตราการใช้กำลังการผลิต, เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน, เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน, อัตราเงินเฟ้อ, ภาคส่งออก-นำเข้า ฯลฯ

2. รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (http://www.bot.or.th/
>>> เลือก “ภาวะเศรษฐกิจ” >>> เลือก “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ”) รายงานนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะจะมีรายละเอียดเชิงลึกของทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีข้างหน้า ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวม และแต่ละภาคส่วน โดยรายงานนี้จะเผยแพร่เป็นรายไตรมาส ในเดือน มกราคม, เมษายน, กรกฎาคม, และตุลาคม ของทุกปีครับ

3. ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (http://www.nesdb.go.th/
>>> เลือก “ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม” >>> เลือก “บัญชีประชาชาติ” >>> เลือก “Quarterly Gross Domestic Product”) โดยตัวเลข GDP จะประกาศหลังจากสิ้นไตรมาสประมาณ 2 เดือน เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ปีนี้จะประกาศประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2552 นี้ โดยรายงานฉบับนี้จะลงลึกในรายละเอียดทั้งหมดของอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ประกาศจากหน่วยงานรัฐครับ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขการส่งออก / นำเข้า ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ (http://www.mof.go.th/
), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ประกาศโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (http://www.thaiechamber.com/) เป็นต้น

ตัวเลขเศรษฐกิจหลัก ๆ ที่ควรติดตาม

ถ้าคุณไม่ได้ทำงานที่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างใกล้ชิด คงจะเป็นการยากหากคุณจะต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจทุก ๆ ตัว และทุก ๆ เดือนอย่างที่ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องทำ ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ติดตามเป็นรายไตรมาสครับโดยติดตาม รายงาน 2 ฉบับนี้ครับ

1. “รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ” ของแบงค์ชาติ เพื่อให้ทราบว่าประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของแบงค์ชาติเมื่อมองไปข้างหน้าเป็นอย่างไร สำคัญคือการปรับประมาณการครับ ว่า 3 เดือนที่ผ่านมาแบงค์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้าปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจขึ้นหรือลงครั้งละมาก ๆ ก็มักจะมีผลต่อตลาดหุ้น, ตลาดตราสารหนี้, รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2. ตัวเลข GDP จริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ อันนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำไป Cross check กับการประมาณการเศรษฐกิจของแบงค์ชาติได้ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น หากประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนเมษายนบอกว่าปีนี้ เศรษฐกิจจะโตมาก แต่พอตัวเลขจริงของไตรมาส 1 ที่ประกาศในเดือนพฤษภาคม ออกมาไม่ดี เราก็พอจะคาดเดาได้ครับว่าน่าจะการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้างแน่นอน ไม่มาก ก็น้อยครับ



วิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 แบงค์ชาติได้เผยแพร่รายงานภาวะเงินเฟ้อล่าสุดออกมา โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP และเงินเฟ้อของปี 2552 จาก และปรับเพิ่มประมาณการของปี 2553 รายละเอียดตามตารางครับ


ใน BLOG ฉบับหน้าเราจะมาทำการวิเคราะห์กันครับว่าตัวเลขดังกล่าวจะนำไปวิเคราะห์ได้อย่างไร และที่สำคัญคือจะนำตัวเลขนั้นไปจัดกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างไร ติดตามฉบับหน้าครับ



โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด.

xxx


Share/Save/Bookmark
Thursday 23 July 2009

Thursday 23 July 2009

FundTalk8 แบ่งเงิน ไปซื้อ "ทอง"

Allocate money to buy "GOLD"



ผมได้มีโอกาสเข้าฟังสัมมนา “The Strategic Investment Case for Gold” ที่จัดโดย World Gold Council (http://www.gold.org/) จึงขอนำความรู้ที่ได้รับ มาวิเคราห์ให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูครับ
ปัจจุบันทองคำที่ขุดขึ้นมาบนผิวโลกมีจำนวน 163,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สมมติเราเอาทองทั้งหมดในโลกมากองรวมกันจะได้ขนาดเท่ากับตึกแถวประมาณ 3 – 4 ห้อง ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มากเท่าไรนัก โดยจากทองคำทั้งหมดที่มี ส่วนใหญ่นำไปใช้งานใน 4 ประเภท ดังนี้


51% ใช้เป็นเครื่องประดับ
17% ถือโดยธนาคารกลางเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการพิมพ์เงินตรา
16% เป็นการลงทุนในรูปต่าง ๆ เช่น กองทุน ETF, ทองคำแท่ง, เหรียญทอง เป็นต้น
12% เป็นทองคำที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม Telecom

แนวโน้มที่ดีของทองคำ

จากที่ได้รับฟังความรู้ในเรื่องของตลาดทอง ทั้งในเรื่องของอุปสงค์ และอุปทาน โดยละเอียด ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีนัยสำคัญต่อทิศทางราคาทองคำคือโครงสร้างความต้องการของทองที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในปี 2009 นี้

หลายท่านอาจมองว่าในภาวะทีเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตลาดหลักของทองคำน่าจะชะลอตัวตาม ซึ่ง “จริง” ครับ โดยในปี 2009 ความต้องการดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่าชัดเจน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เช่นในไตรมาส 1 / 2552 ที่ผ่านมาผู้ซื้อทองคำหลักกลายเป็นผู้ซื้อเพื่อการลงทุนสูงถึง 59% ขณะที่ผู้ซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับ และเพื่อการอุตสาหกรรมปรับลดลงเหลือ 33% และ 8% ตามลำดับ

5 เหตุผลสนับสนุนราคาทองคำ

1. ธรรมชาติที่เป็น Safe-haven สำหรับการลงทุน เช่น ในปี 2008 ที่ผ่านมาที่ราคาของหุ้น, ที่ดิน, สินค้าโภคภัณฑ์, น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่ราคาทองคำในปี 2008 ปรับเพิ่มขึ้นจากบาทละ 13,600 บาท เป็น 14,400 บาท คิดเป็น 10.6% และในปี 2009 ราคาทองคำก็ยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

2. ด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความผันผวนของทองคำยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่น รวมถึงสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เช่นตลาดหุ้น

3. ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงที่ดี โดยหากดูจากความสัมพันธ์ของราคาทองคำเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ จะเห็นว่าบ่อยครั้งราคามีทิศทางที่สวนทางกัน เช่นราคาหุ้นกับราคาทองคำในปี 2008 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

4. ทองคำบนโลกมีจำกัด โดย 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณทองคำที่เหมืองทองขุดหาได้ทยอยปรับลดลงเรื่อย ๆ รวมถึงจำนวนแหล่งสายแร่ทองคำที่ค้นพบใหม่ก็ทยอยปรับลดลงจากปีละ 5 - 6 เหมือง มาเป็นปีละ 1 - 2 เหมืองในปัจจุบัน

5. เมื่อมาดูกันที่ตลาดของนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, บริษัทประกัน ซึ่งมีขนาดประมาณ 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2008 ปัจจุบันเป็นการลงทุนในทองคำเพียง 0.58% หรือ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าจากข้อดีของทองคำที่มีในหลายแง่มุม 4 ข้อข้างต้น จะทำให้สัดส่วนการลงทุนในทองของสถาบันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตข้างหน้า

ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ถ้านักลงทุนสถาบันปรับเพิ่มการลงทุนในทองซัก 3 % จากเม็ดเงิน 120 – 140 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเป็นการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับปริมาณทองที่มีอยู่บนโลกทั้งหมดในปัจจุบันพอดี ซึ่งผมเชื่อว่าความต้องการของนักลงทุนจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตครับ ดูอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ สามารถเลือกแบ่งบางส่วนไปลงทุนในกองทุนทองคำได้ มีพนักงานหลายคนครับที่ตัดสินใจแบ่งเงินไปลงกองทุนทองคำถึง 20 – 50% (รวมทั้งตัวผมเองด้วย)

ช่องทางในการซื้อทองเพื่อลงทุน

1. ซื้อทองคำแท่ง (96.5%) - ขอแนะนำ “ฮั่ว เซ่ง เฮง” http://www.huasengheng.com/

2. ซื้อทองคำแท่ง (99.99%) - มีขายอยู่หลายเจ้าในเมืองไทยครับ ขอแนะนำ “Ausiris” http://www.ausiris.co.th/th/

3. ซื้อกองทุนทองคำ - มีหลายบลจ. เสนอขายครับ โดยส่วนใหญ่จะนำไปลงในกองทุน ETF ที่เสนอขายในต่างประเทศ ขอแนะนำ “AYF Gold Fund” http://www.ayfunds.com/th/
โทร 02 - 657 – 5757

4. ซื้อ Gold Future – อันนี้ต้องศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเยอะหน่อยครับ ขอแนะนำให้ศึกษาใน Thai Futures Exchnage http://www.tfex.co.th/th/products/goldfutures.html

สุดท้ายขอฝากกันด้วยรูปของ Safe House ของธนาคาร HSBC ในประเทศอังกฤษ ที่ใช้สำหรับเก็บทองคำแท่งของกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก SPDR Gold Shares โดย State Street Advisors ครับ



ที่มา http://www.spdrgoldshares.com/sites/us/


โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.

xxx

Share/Save/Bookmark
Monday 20 July 2009

Monday 20 July 2009

ชีวิตของคนที่เรียกตัวเองว่า "ผู้จัดการกองทน"

Blog นี้นำมาจากบทความที่เขียนโดย คุณ ณสุ จันทร์สม,CFA. ผู้จัดการกองทุนหุ้นระดับแนวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่งที่ผมเคยมีโอกาสได้ร่วมงานด้วยครับ

มีความเข้าใจกันอย่างทั่วไปว่า การเป็นผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพที่เป็นที่คาดหวังของนักเรียนสาขาการเงินหลายๆคน สำหรับเหตุผลคงหนีไม่พ้นว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีโอกาสได้บริหารเงินที่มีจำนวนมาก มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลมากมายซึ่งใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีข้อที่ควรระวัง ผู้เขียนขอสรุปประเด็นข้อดีและข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อเป็นข้อคิดดังนี้

สำหรับข้อดีของการเป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากการมีโอกาสที่ได้บริหารเงินค่อนข้างเยอะ (แต่ไม่ใช่เงินของตนเอง) คงหนีไม่พ้นการได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนฯต่างๆ การได้เข้าถึงทำให้สามารถทราบถึงวิสัยทัศน์ของคนในระดับผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสนี้ เหตุผลที่ได้เข้าพบก็เนื่องมาจากผู้จัดการกองทุนถือได้ว่าเป็นนักลงทุนสถาบันและมีอำนาจในการตัดสินใจจะซื้อจะขายหลักทรัพย์ใดๆได้ สำหรับข้อดีอื่นๆของการเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนสถาบัน ก็คือการมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่กว้างขวางจากโบรกเกอร์ต่างๆเกือบจะทุกแห่ง เนื่องจากโบรกเกอร์ทุกแห่งคงอยากได้การยอมรับจากผู้จัดการกองทุน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะได้รับค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Brokerage Commission) ก็จะมีมากขึ้น หากจะสรุปสั้นๆก็อาจกล่าวได้ว่าผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีแต่คนเอาใจ จึงมีผู้จัดการกองทุนบางคนอาจหลงลืมไปว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเค้าคืออะไร จริงจริงก็เป็นคนที่นักลงทุนฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง

สำหรับข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีอยู่ไม่น้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคาดหวัง (Expectation) ของนักลงทุน ทั้งในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนต้องตระหนักเสมอว่า เงินที่ลงทุนอยู่นั้นไม่ใช่เงินของตนเอง เงินที่นำมาลงทุนส่วนมากเป็นเงินที่นักลงทุนเก็บออมมาด้วยความยากลำบาก ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในยามเกษียณ หรือเพื่อสำหรับการศึกษาของบุตรธิดาของนักลงทุนนั้น ความคาดหวังจึงมีค่อนข้างสูง หากผู้จัดการกองทุนไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังที่ตกลงกับนักลงทุนในตอนเริ่มต้น ผู้จัดการกองทุนก็คงต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ยากลำบากในการอธิบายให้กับผู้ลงทุนเข้าใจ หากไม่เข้าใจก็อาจรุนแรงถึงการสูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีเหตุผลในการลงทุนทุกครั้ง เพื่อในยามที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังผู้จัดการกองทุนสามารถตรวจเช็คแก้ไขและอธิบายได้ว่าเกิดจากจุดใดและเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในภายภาคหน้า

จากการที่เป็นที่คาดหวังของนักลงทุนว่าจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี ผู้จัดการกองทุนจึงต้องทำงานหนัก อาจกล่าวได้ว่าหนักกว่าเพื่อการลงทุนเงินของตัวเองเสียอีก การทำการบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ งานหลักของผู้จัดการกองทุนคือการเข้าเยี่ยมชมบริษัท Company Visit จากนั้นต้องกลับมาทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จะนำไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ ส่วนตัวของผู้เขียน หากไม่ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบริษัทจะเดินไปในทิศทางใด ก็ขอเลือกที่จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้นๆ เพราะสิ่งที่นักลงทุนสถาบันมีเหนือกว่านักลงทุนทั่วไปก็คือการมีโอกาสได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูง (Access to Management) หากไม่ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรับจ้างลงทุนโดยใช้ความรู้สึกอย่างเดียวและอาจทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมการจัดการที่ผู้จัดการกองทุนนั้นได้รับมา

นอกจากนั้น กว่าจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนได้นั้น เส้นทางก็ถือว่ายากพอสมควร กล่าวคือบุคคลนั้นๆต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าคนคนนั้นมีจรรยาบรรณที่ดีพอหรือไม่ การมีความรู้ความสามารถก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือผู้จัดการกองทุนต้องผ่านการสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program (CISA) ซึ่งการสอบดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์และบริหารการลงทุน โดยเนื้อหาจะครอบคลุมถึงการวัดความสามารถในการประเมินค่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมทั้งเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยเนื้อหาหลักๆ จะประกอบด้วย จรรยาบรรณ และมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Ethical & Professional Standards), เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน (Investment Tools), การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ (Asset Valuation), การบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Portfolio Management) ถึงจะมีหัวข้อใหญ่ๆไม่กี่หัวข้อ แต่ต้องขอบอกก่อนเลยว่าไม่ง่ายเลยที่จะสามารถทำความเข้าใจและนำมาใช้งานได้ทั้งหมด มีผู้จัดการกองทุนหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียน กว่าจะผ่านการทดสอบต่างๆก็ใช้เวลาแรมปี ถ้าต้องทำอีกครั้งอาจจะขอยอมแพ้ไปเลยด้วยซ้ำ

สรุป – มีข้อดีและข้อควรระวังเยอะสำหรับการเป็นผู้จัดการกองทุน หรือที่รู้จักกันว่า Fund Manager เป็นภาระที่หนักหน่วงเอาการเมื่อถึงเวลาต้องเอาเงินของคนอื่นมาบริหาร...เชื่อผู้จัดการกองทุนคนนี้เถอะครับ

โดย คุณ ณสุ จันทร์สม, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา จำกัด
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550
Share/Save/Bookmark

FundTalk7 พันธบัตรไทยเข็มแข็ง น่าลงทุนหรือไม่

How to analyze attractiveness of Government Bond

ในช่วงนี้เรียกได้ว่าร้อนแรงจริง ๆ สำหรับการเปิดจำหน่าย “พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ของรัฐบาล โดยรอบแรกขายไปแล้วขายไปแล้ว 3 หมื่นล้านเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาจากเดิมที่วางแผนไว้เพียง 1.5 หมื่นล้าน โดยสำหรับการเปิดจำหน่ายในรอบที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 คือ ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ ผมมั่นใจว่าขายหมดแน่นอนจากกระแสที่เป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่คนไทยจะได้สัมผัส และรู้จักการลงทุนในตราสารหนี้กันมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พันธบัตรหรือตราสารหนี้ มักจะเป็นการลงทุนของคนที่มีเงินเยอะ และซื้อขายกันครั้งนึงในมูลค่าค่อนข้างมาก ครั้งนี้ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ลดเงินขั้นต่ำลงเหลือเพียง 1 หมื่นบาท และสำหรับล็อตแรกยังมีการกำหนดวงเงินขั้นสูงที่ 1 ล้านบาทด้วย ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ลงทุนเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยการจองซื้อครั้งที่ผ่านมามีผู้สนใจจองซื้อสูงถึง 4 หมื่นกว่าคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้จองซื้อที่ผ่านมาจำนวนหลายเท่าตัว ผลที่ได้รับจากการออกพันธบัตรครั้งนี้นอกจากรัฐบาลจะสามารถระดมเงินได้ตามเป้าหมาย ยังทำให้ตลาดทุนเกิดความลึก (Depth) ที่มากขึ้น กล่าวคือมีจำนวนนักลงทุนที่มากขึ้นด้วย

บทความวันนี้จะขอทำการวิเคราะห์รายละเอียด (Feature) ของพันธบัตรเข็มแข็ง ความน่าสนใจ/ไม่น่าสนใจ ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่น ๆ ที่มีเสนอขายในตลาด หรือ”พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ที่น่าจะมีออกมาให้คนไทยซื้อกันอย่างต่อเนื่อง

วิเคราะห์ผลตอบแทน

ลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรไทยเข็มแข็งครั้งนี้เป็นแบบขั้นบันได กล่าวคือปีที่ 1,2 จ่ายดอกเบี้ย 3% ปีที่ 3 จ่ายดอกเบี้ย 4% และปีที่ 4,5 จ่ายดอกเบี้ย 5% เวลาทำการวิเคราะห์หาผลตอบแทน ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ควรใช้การคำนวณ IRR ครับ ง่าย ๆ เพียงใช้โปรแกรม Excel และกรอกข้อมูลตามรูปครับ เริ่มต้นจากการกรอกวันที่จ่ายเงิน และวันที่รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนในอนาคต และใช้สูตร XIRR ของโปรแกรม Excel ซึ่งคำนวณออกมาแล้วได้ IRR หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3.99% หรือประมาณ 4% นั่นเอง


หลายท่านคงเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่จับหารกันง่าย ๆ ไปเลย เอา 3 + 3 + 4 + 5 + 5 หารด้วย 5 ปี ก็ได้เฉลี่ยปีละ 4% คำตอบคือ เวลาคิดเร็ว ๆ ก็จับหารเลยครับ แต่ที่ลองทำคำนวณอย่างละเอียดให้ท่านดูเพราะ วิธีการคิด IRR นี้ยังมีประโยชน์ในอีกหลายแง่มุม เช่นเวลาเรามีโครงการใด ๆ ที่จะลงทุน การคำนวณ IRR ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อดูว่าผลตอบแทนของการลงทุนของเราเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และก็ต้องไม่ลืมนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรครับ ถ้าโครงการลงทุนที่ท่านอยากทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล ก็อย่าไปทำเลยครับ เอาเงินไปซื้อพันธบัตรยังดีกว่า ความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย

สภาพคล่อง และช่องทางการซื้อขาย
มีข้อกำหนดสำหรับการถือครองพันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ถืออย่างน้อย 6 เดือนครับจึงจะเปลี่ยนมือได้ อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับมองว่าสภาพคล่องของการลงทุนในพันธบัตรต่ำ ซึ่งเป็นความจริงครับ แต่ถ้ามาดูในเรื่องของช่องทางการซื้อขาย ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทางมากขึ้นครับ ช่องทางแรกคือทำการซื้อขายผ่านธนาคารครับ โดยบางธนาคารจะมีบริการรับซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองครับ ช่องทางที่สองคือการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ได้มีการจัดตั้ง BEX หรือ Bond Electronic Exchange ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายตราสารหนี้ได้ผ่านทางตัวแทน คล้าย ๆ กับการซื้อขายหุ้นครับ (สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bex.or.th/) สรุปคือการซื้อพันธบัตรเหมาะกับการถือครองจนครบอายุครับ แต่หากก็สามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้เช่นกัน ผมเชื่อว่าในอนาคตสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับจากการที่เริ่มมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนมากขึ้น



ความน่าลงทุน
หลาย ๆ ท่านได้สอบถามผมว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งน่าลงทุนหรือไม่ คำถามนี้ผมขอตอบเป็น 2 ประเด็นครับ
1.เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 2.90% แต่พันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ผลตอบแทนถึง 3.99% ต่างกันถึง 1.09% เมื่อมองในประเด็นนี้จัดว่าได้ Premium ที่ดี ซึ่งถือว่าน่าลงทุนมากครับ (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรล่าสุดดูได้จาก http://www.thaibma.or.th/)

2.อย่างไรก็ตามหามองทิศทางดอกเบี้ย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากในปีข้างหน้าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งในอนาคตยังมีอีกหลายรุ่นครับถ้าดูจากโปรแกรมการระดมเงินของภาครัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสเยอะทีเดียวครับที่ดอกเบี้ยของพันธบัตรในปีหน้าจะสูงกว่าในเวลานี้ ดังนั้นค่อย ๆ ทยอยซื้อก็เป็นไอเดียที่ดีครับ อย่าลงทุนจนเงินหมดในทันที ของดียังมีอีกเยอะ
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.
xxx

Share/Save/Bookmark
Friday 17 July 2009

Friday 17 July 2009

FundTalk6 คุณว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

Should Government borrow ?

เมื่อวันก่อนผมนั่งแท็กซี่กลับบ้าน พี่คนขับบ่นให้ฟังว่ารัฐบาลนี้เป็นแต่กู้เงิน ทำอย่างอื่นไม่เป็น เช่นเดียวกับที่ผมได้รับทราบจากสื่อต่าง ๆ กระแสสังคมตอนนี้กำลังต่อต้านการกู้เงินของรัฐบาลค่อนข้างหนัก ทั้งหมดเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ ผมจะพยายามชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ความเหมาะสมของรัฐบาลในการที่จะกู้เงิน ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาลครับ

รายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล


รายได้ของรัฐบาลมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลที่เก็บจากรายได้ที่อยู่ในระบบ ภาษีนิติบุคคลเก็บจากบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภค ภาษีศุลกากรที่เก็บจากการนำเข้าส่งออก ฯลฯ หากผมตั้งคำถามว่าใครเสียภาษีเยอะ คำตอบคือผู้ที่มีรายได้เยอะไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหากรายได้เยอะก็ต้องเสียภาษีในฐานที่สูง โดยสูงสุดถึง 37% สำหรับนิติบุคคลที่กำไรเยอะก็ย่อมต้องเสียภาษีเยอะเช่นกัน สรุปสั้น ๆ คือภาษีเก็บจากคนรวย หรือบริษัทที่รวยครับ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งเสียภาษีมาก ในอนาคตก็กำลังมีการผลักดันในเรื่องของภาษีมรดก และภาษีที่ดิน ซึ่งก็ยังคงอยู่ในหลักการเก็บภาษีจากคนรวยเช่นกัน

รายจ่ายของรัฐบาลแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน รายจ่ายประจำโดยมากจะไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่นเงินเดือนของข้าราชการทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป การบริการชุมชนและสังคม การเตรียมความพร้อมสำหรับป้องกันประเทศ ฯลฯ ส่วนรายจ่ายลงทุนโดยมากจะเป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดผลผลิตและเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอนาคต เช่นโครงการรถไฟฟ้า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

การกู้เงินของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อใด และจะใช้คืนเงินกู้ได้อย่างไร
เช่นเดียวกับประชาชนเวลาจะกู้ หรือคืนเงินกู้ครับ รัฐบาลจะมีความจำเป็นต้องกู้เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และการใช้คืนเงินกู้ก็กลับข้างกันคือเมื่อรัฐบาลสามารถหารายได้มากกว่ารายจ่าย ก็สามารถนำส่วนที่เหลือมาใช้คืนเงินกู้ได้ครับ ในทางปฏิบัติจะมีการตั้งเป็นงบประมาณล่วงหน้าปีต่อปีครับ ถ้ารัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุลเมื่อใด หมายถึงใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่เป็นภาษี ส่วนที่ขาดไปก็ต้องทำการกู้ครับ ไม่ว่าจะกู้จากในประเทศหรือนกประเทศ กลับกันถ้าเป็นงบประมาณแบบเกินดุลก็คือการใช้คืนเงินกู้ในอดีตไปในตัว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรทราบคือรัฐบาลไม่ว่าจะภายใต้การนำของพรรคไหน ต่างก็มีการกู้เงินมาทุกยุคทุกสมัยครับ กล่าวได้คือเมื่อใดที่ตั้งงบประมาณขาดดุล เมื่อนั้นต้องมีการกู้เกิดขึ้นแน่นอนครับ

เมื่อไหร่ที่ควรกู้

ตามหลักการที่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นสากล ประเทศควรกู้หรือตั้งงบประมาณขาดดุลเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ และควรใช้คืนเงินกู้หรือตั้งงบประมาณเกินดุลเวลาเศรษฐกิจขยายตัวดี เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แน่นอนว่าภาษีจะเก็บได้น้อยเพราะประชาชนมีรายได้น้อยลง บริโภคน้อยลง บริษัทก็มีกำไรน้อยลง ภาวะแบบนี้รัฐบาลควรตั้งนโยบายแบบขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งสุทธิแล้วเท่ากับเป็นการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น รัฐบาลก็ควรตั้งงบเกินดุลเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และนำภาษีที่ได้รับมากเกินรายจ่ายมาชำระหนี้ที่ก่อไว้ในอดีต คุณล่ะครับคิดว่าเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในภาวะใด ขาขึ้นหรือขาลง และรัฐบาลควรกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเปล่า

วินัยการคลัง และหนี้สาธารณะ

กฎหมายได้ระบุไว้ถึงเพดานการกู้เงินของรัฐบาลจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายประจำปี เป็นที่ชัดเจนว่าเงินกู้ 8 แสนล้านบาทที่รัฐบาลดำริขึ้นนั้นเกินร้อยละ 20 อย่างแน่นอน รัฐบาลจึงกระทำผ่านกฎหมายกู้เงินฉุกเฉิน 2 ฉบับ ซึ่งการกู้เงินย่อมนำไปสู่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) โดยหากกู้เงินทั้ง 8 แสนล้าน จะทำให้ตัวเลขขึ้นไปที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 แต่หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ยังนับว่าตัวเลขหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 100% เข้าไปแล้ว

รัฐบาลกู้ ใครได้ประโยชน์ ใครเป็นคนชำระหนี้

ประเด็นนี้ต่างกันชัดเจนระหว่างเวลาประชาชนเป็นหนี้ กับรัฐบาลเป็นหนี้ กรณีประชาชนกู้เงินไปใช้จ่ายเช่น กู้เงินกองทุนหมู่บ้าน กู้เงินธกส. เวลาต้องใช้เงินคืน ผู้กู้เงินย่อมต้องเป็นผู้ชำระ ง่าย ๆ คือกรณีประชาชนกู้เงิน ใครกู้ ใครเอาเงินไปใช้ คนนั้นต้องเป็นคนจ่าย ต่างกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินไม่ว่าจะไปใช้จ่ายในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งโดยมากหลัง ๆ ก็มักจะเป็นโครงการประชานิยมที่ช่วยคนรายได้น้อย เช่น เช็คช่วยชาติ เงินบำนาญผู้สูงอายุ ประกันราคาพืชผล แต่กรณีรัฐบาลกู้ ผู้ที่ใช้คืนเงินกู้หลัก ๆ คือผู้ที่เสียภาษีเยอะ ง่าย ๆ คือนำภาษีจากคนรวยไปช่วยคนจน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้

แปลกแต่จริงครับที่เวลารัฐบาลทำโครงการให้ประชาชนกู้เงิน ซึ่งโดยมากเป็นผู้มีรายได้น้อย เกิดเป็นหนี้สินภาคครัวเรือน ประชาชนที่ได้กู้ส่วนใหญ่มีความสุข รู้สึกว่าได้รับโอกาส ทั้ง ๆ ที่ทำให้ตัวเองเป็นหนิ้เป็นสิน ขณะที่เวลารัฐบาลจะกู้ ซึ่งผู้ต้องชำระคืนเงินกู้คือคนหรือบริษัทที่เสียภาษี ยิ่งรวยมากยิ่งต้องเสียภาษีมาก กลับเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีน้อย แต่เป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการจับจ่ายของรัฐบาล

คุณล่ะครับคิดว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx



Share/Save/Bookmark

FundTalk5 เข้าใจกองทุนบำนาญ (บ้าง...)

Understanding nature of Pension funds

เนื้อหาที่เขียนขึ้นวันนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจลักษณะ ธรรมชาติ จุดประสงค์ ของกองทุนบำนาญให้มากขึ้น เพื่อประกอบเป็นความรู้ในการที่จะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเราในวันนี้อย่างไม่ปรุงแต่ง เพราะบางครั้ง คนเราชอบสรุปความอัตโนมัติว่าสิ่งใด “ผิด” หรือสิ่งใด “ถูก” จากความรู้สึกของเราเอง โดยละเลยความจริงบางประการไป

กองทุนบำนาญมีหลายประเภท เช่น สำหรับพนักงานภาคเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในอนาคตมีการผลักดันให้เกิดกองทุนบำนาญแห่งชาติ นอกจากนี้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ก็มีเป้าประสงค์คล้ายกับเป็นกองทุนบำนาญประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของกองทุนบำนาญคือเป็นเงินกองทุนที่ออมไว้ใช้เมื่อยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกคนว่าเมื่ออยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตแล้วนั้น จะมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือสุขสบาย

เงินเฟ้อคืออุปสรรคของชีวิตยามเกษียณ

ธรรมชาติของการออมเงินใช้ในยามเกษียณคือ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยทั่ว ๆ ไปเราจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อายุประมาณ 25 ปีและเกษียณที่อายุประมาณ 55 ปี นั่นคือระยะเวลาของการลงทุนนานถึง 30 ปี เป้าหมายของเงินลงทุนดังกล่าวนอกจากจะต้องพยายามสงวนเงินต้นของการลงทุนแล้ว ยังต้องสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อรักษามูลค่าของเงินให้คงอยู่อีกด้วย อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกของเงินเฟ้อที่ข้าวของราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะเขียนบทความอยู่ผมหันไปถามพี่ที่บริษัท ได้คำตอบว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วข้าวแกงจานละ 7 บาท วันนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 400% สมมติว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าราคาข้าวแกงยังคงเป็นไปตามอัตรานี้ ราคาก็คงจะขึ้นไปที่ 120 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 5%

แล้วเงินที่เราออมไว้ใช้ยามเกษียณวันนี้ล่ะครับ สมมติว่าเราออมไว้ 30 บาท เมื่อเราเกษียณจะขึ้นไปถึง 120 บาทเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หมายความว่าเงินที่สะสมไว้วันนี้มีมูลค่าที่ต่ำลง นำไปใช้จ่ายได้น้อยลง ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ทุกท่านต้องการ โดยสรุปคือเป้าหมายของเงินลงทุนระยะยาวเพื่อยามเกษียณ คือสร้างผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็รักษาเงินต้นของการลงทุนให้คงอยู่ ภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวหลายสิบปี
มองสั้น ๆ หรือมองยาว ๆ

ถ้าท่านตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ผู้จัดการกองทุนสามารถทำให้ท่านได้โดยการนำเงินไปฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ซึ่งเงินลงทุนโดยรวมในแต่ละปีก็จะมีโอกาสติดลบน้อยมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีโอกาสที่จะแพ้เงินเฟ้อเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ที่ผมอยากจะถามท่านคือ ทำไมผลตอบแทนในแต่ละปีถึงต้องห้ามติดลบล่ะครับ ในเมื่อเงินลงทุนเรามีอายุยาวหลายสิบปี และการมาตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ก็เป็นการบังคับให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ผมเห็นว่าการประเมินผลตอบแทนของกองทุนบำนาญโดยดูผลตอบแทนระยะยาว เช่น 10 – 20 ปี จะดูมีเหตุผลกว่าครับ

ตัวอย่างการลงทุนของเงินบำนาญในต่างประเทศ เช่นประเทศนอร์เวย์ที่มีเงินกองทุนบำนาญสูงมาก ของเค้านำเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกสูงถึงประมาณ 60% เพราะเค้ามองถึงผลตอบแทนระยะยาวครับ ว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ชนะเงินเฟ้อ และยอมรับได้กับความผันผวนระยะสั้น เช่นผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง ผมไม่เห็นประชาชนประเทศนอร์เวย์ออกมาลุกฮือเลยครับเวลาที่ผลตอบแทนปี 2551 ติดลบ

คุณเลือกแบบไหน

สมมติถ้าลงทุนแบบเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนปีละ 3% เป็นเวลา 30 ปี เงิน 30 บาทวันนี้จะเท่ากับ 73 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งจะเอาไปซื้อข้าวแกงจานเดียวยังไม่ได้เลยครับ ขณะที่หากลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง เช่นได้ผลตอบแทนปีละ 7% เงิน 30 บาทในวันนี้จะกลายเป็น 228 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าครับ ซึ่งสามารถซื้อข้าวแกงได้เกือบ 2 จาน
ที่บอกได้แน่นอนคือมันไม่มีในโลกหรอกครับที่จะหาโครงสร้างการลงทุนที่แต่ละปีก็ห้ามขาดทุน ระยะยาวก็ต้องได้กำไร เยอะ และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ (Low Risk, High Return) คุณต้องเลือกครับถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ก็ต้องทนความผันผวนในระยะสั้นได้ (High Risk, High Return) หรือถ้าไม่ต้องการความผันผวนในแต่ละปี ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในระยะยาว (Low Risk, Low Return) ประเด็นของผมในวันนี้คือในเมื่อเงินกว่าเราจะใช้อีกเป็นสิบ ๆ ปี แล้วจะมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนปีต่อปีจนเกินจำเป็นทำไม

จากนี้ไปสังคมต้องเลือกครับ ระหว่าง

1)ผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคือเงินคุณมีมูลค่าลดลง

2)ผลตอบแทนแต่ละปีติดลบได้ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคุณมีเงินที่มีมูลค่าสูงขึ้นนำไปใช้สอยได้มากขึ้น

ถ้าผมเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก ผมเลือกทางที่ 2 แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพาไปทางที่ 1 ครับ ซึ่งผมก็คงต้องยอมรับตามนั้นครับ คุณล่ะครับ ถ้าเลือกได้จะพาคนไทยไปทางไหน ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx

Share/Save/Bookmark
Thursday 16 July 2009

Thursday 16 July 2009

FundTalk4 REBALANCING - เทคนิค “ซื้อถูก ขายแพง”

Portfolio Rebalancing Technique

“หุ้นช่วงนี้ลงมาเยอะเลย อย่าเพิ่งซื้อ นักวิเคราะห์กำลังจะปรับประมาณการปีนี้ลงอีก”

“ช่วงนี้หุ้นเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว เริ่มมีความน่าลงทุน”

“ปีที่แล้วขาดทุนไปเยอะเลย คงหยุดเล่นไปอีกซักพัก”

ผมมักได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อน ๆ ที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นการสะท้อนพฤติกรรมการมองไปข้างหลัง เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน แต่บ่อยครั้งกลับไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
แนวทางข้างต้นผมเรียกว่าเป็นการลงทุนแบบ Momentum คือรอให้ตลาดมีสัญญาณก่อนจึงค่อยปรับตัวตาม เช่น ถ้าหุ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นซักระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นสัญญาณเข้าลงทุน หรือถ้าหุ้นเริ่มตกซักระยะ ก็เป็นสัญญาณในการขายหุ้น ซึ่งกลยุทธ์แบบ Momentum ดังกล่าวจะใช้ได้ผลในตลาดแบบ Trendy market กล่าวคือเวลาขึ้นหรือลงแต่ละรอบเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาว ๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบสไตล์ Momentum เพราะความผันผวนของตลาดหุ้นไทยมีค่อนข้างมาก บ่อยครั้งถ้าเรารอให้หุ้นขึ้นแล้วค่อยซื้อ หุ้นลงค่อยขาย กลับให้ผลลัพธ์เป็นการ “ซื้อแพง ขายถูก”
แนวทางที่ผมจะขอเสนอในวันนี้เป็นหลักการปรับพอร์ตแบบ ซื้อถูก - ขายแพง ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมใช้กับการลงทุนส่วนตัว และแนะนำให้กับเพื่อนและลูกค้าแล้วได้ผลที่ดี โดยวิธีการเป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าเรามีเงินลงทุนอยู่ในหุ้น 10,000 บาท โดยผมกำหนด 20% เป็นเปอร์เซนต์เป้าหมายในการปรับพอร์ต และเงินลงทุนเป้าหมายคือ 10,000 บาท กฎมีดังนี้ครับ

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 20% หรือขึ้นมาเป็น 12,000 บาท ให้ขายทำกำไรออกมา 2,000 บาท เพื่อให้เงินลงทุนเหลือ 10,000 บาทเท่าเดิม และเก็บเงินสดไว้

- เมื่อใดก็ตามที่พอร์ตการลงทุนปรับลดลง 20% หรือเหลือ 8,000 บาท ให้นำเงินสด 2,000 บาทมาลงทุนเพื่อให้เงินลงทุนรวมเป็น 10,000 บาท

- ทำตามแนวทางนี้ไปเรื่อย ๆ จนเมื่อใดหากมีเงินสดในมือเยอะขึ้น หรือมีเงินเก็บพร้อมจะลงทุนมากขึ้น ให้ปรับเงินลงทุนเป้าหมายขึ้น/ลงได้ ตามความเหมาะสม

ลองทดสอบย้อนกลับไปซัก 3 ปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2006 นะครับ

หากไม่ทำการ Rebalance ใด ๆ ผลตอบแทนการลงทุนไม่รวมเงินปันผลอยู่ที่ ขาดทุนประมาณ 20% จาก SET Index ณ ระดับวันลงทุนเริ่มต้นที่ 713 แต่หากทำการปรับพอร์ตตามกลยุทธ์ข้างต้นจะขาดทุนเพียง 10% เท่านั้น โดยมีโอกาสขายทำกำไร 3 ครั้ง และซื้อของถูกอีก 3 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวที่ผมชื่นชอบแนวทางการลงทุนแบบ Rebalancing เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้ “ซื้อตอนลง และขายตอนขึ้น” หรือเรียกได้ว่า “ซื้อถูก ขายแพง” ครับ นอกจากนี้เวลาราคาปรับเพิ่มขึ้นผมก็มีโอกาสได้ขายทำกำไรและเตรียมเงินสดไว้ลงทุนเมื่อราคาปรับตัวลดลง

แนวทางนี้ใช้ได้กับการลงทุนในตราสารหนี้, โภคภัณฑ์ และจัดพอร์ตการลงทุนโดยรวม (Asset Allocation) ได้ด้วยครับ โดยต้องกำหนดเปอร์เซ็นต์การปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความผันผวนของแต่ละประเภทของหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ที่ผมนำเสนอในวันนี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีในตลาด Trendy market แบบหลาย ๆ ปีเช่น ขาลงในช่วงปี 1996 – 1998 หรือขาขึ้นในปี 2002 – 2003 ครับ แต่ผมก็คงจะไม่เปลี่ยนแนวทางการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะแนวทางแบบ Rebalancing ให้ความสบายใจกับผมในการจัดพอร์ตครับ เมื่อก่อนเวลาตลาดขึ้นก็เครียดเพราะรู้สึกว่าตกรถไฟ เวลาตลาดลงก็เครียดเพราะขาดทุน เดี๋ยวนี้เวลาตลาดขึ้นผมชอบ และลุ้นให้ขึ้นจนถึง 20% เพื่อจะได้ขายทำกำไร เวลาตลาดลงก็มีความสุขครับอยากให้ลงเยอะ ๆ ถ้าลงถึง 20% ก็คือช่วงเวลาที่จะได้ Shopping ของดีราคาถูก เรียกได้ว่า จะขึ้นหรือจะลงก็สนุกไปกับมันครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.

ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx


Share/Save/Bookmark
Wednesday 15 July 2009

Wednesday 15 July 2009

FundTalk3 การเลือกซื้อหุ้นกู้อย่างมีหลักการ

Principal to select Corporate Debenture

หลาย ๆ ท่านคงจะได้เคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้ปูนซีเมนต์ไทย, หุ้นกู้ปตทสผ. ฯลฯ ที่ทยอยเสนอขายอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจะขอเสนอแนวทางในการเลือกหุ้นกู้เอกชนอย่างมีหลักการ ซึ่งน่าจะพอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของท่านได้ครับ

ตราสารภาคเอกชนจัดเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้จะสูงกว่าพันธบัตร โดยหุ้นกู้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น FITCH, TRIS โดยอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุดคือ AAA และอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment grade คือ BBB – ขึ้นไป

ยกตัวอย่างเช่น หากพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีมีดอกเบี้ยที่ 3.34% หุ้นกู้ก็ควรได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าพันธบัตร โดยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของหุ้นกู้กับดอกเบี้ยของพันธบัตรจะเรียกว่า Credit Spread ซึ่งเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ช่วยชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่ได้รับ Ratings ต่ำกว่าย่อมหมายถึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่า หุ้นกู้นั้นก็ควรจะมี Credit Spread ที่สูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ที่สำคัญคือท่านในฐานะนักลงทุนรายย่อย จะทราบถึงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และ Credit spread ของหุ้นกู้เอกชนได้จากแหล่งข้อมูลใด ผมขอแนะนำให้ท่านศึกษาข้อมูลได้จากเวบไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association) ครับ

รูปที่ 1 Corporate Bond Yield Curve
URL: http://www.thaibma.or.th/ เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Corporate





รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึง Credit Spread ปัจจุบันของหุ้นกู้ในแต่ละช่วงอายุ และระดับ Ratings ต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 – 5 ปี ระดับ A มีระดับ Credit Spread ที่ 176 bps หรือ 1.76% ส่วนระดับ BBB อยู่ที่ 367 bps หรือ 3.76%

-------------------------------------------------------------------


รูปที่ 2 ThaiBMA Government Bond Yield Curve
URL: www.thaibma.or.th เลือก Price&Yield >> Yield Curve >> Government



เมื่อทราบข้อมูล Credit Spread แล้ว ให้นำค่า Credit Spread ที่ได้ไปบวกกับดอกเบี้ยของพันธบัตร ตามรูปที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น หากท่านกำลังศึกษาเพื่อจะลงทุนในหุ้นกู้ระดับ A ที่อายุประมาณ 5 ปี ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 มิ.ย. ดอกเบี้ยพันธบัตร 5 ปีอยู่ที่ 3.34% และ Credit Spread อยู่ที่ 1.76% ดังนั้นดอกเบี้ยที่เหมาะสมก็ควรอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 3.34 + 1.76 = 5.10%

หลักการที่ผมนำเสนอในวันนี้จะช่วยให้ท่านสามารถคำนวณหาดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับหุ้นกู้แต่ละรุ่นที่เสนอขายในตลาดได้ เช่น หากเราได้รับการเสนอขายหุ้นกู้ 5 ปีระดับ A ที่ดอกเบี้ย หรือ Yield to maturity ที่ 6.00% ก็น่าจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ Fair value อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของแต่ละบริษัทที่เราจะลงทุนอย่างละเอียดก็มีความสำคัญครับ เพราะ Ratings นั้นไม่ใช่ว่าได้ A แล้วจะคงอยู่ตลอดไป ถ้าฐานะการเงินด้อยลง บริษัทนั้นก็จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน

ในโลกของการลงทุนนั้น “ยิ่งรู้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ” นะครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA. ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx


Share/Save/Bookmark
Thursday 9 July 2009

Thursday 9 July 2009

FundTalk2 “Yield” นั้นสำคัญไฉน

How Yield is important

หลาย ๆ ท่านที่เป็นนักลงทุนคงติดตามปัจจัย และตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต GDP, เงินเฟ้อ, ค่าเงิน, ดอกเบี้ย วันนี้ผมขอนำเสนออีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวแปรอื่นที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ “ยิลด์ (Yield)” ในที่นี้หมายถึง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

ในเชิงคำนวณ

นิยามของ Yield (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล / ตราสารหนี้) แบบเข้าใจง่าย คือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือพันธบัตรนั้น ๆ ในกรณีที่ถือจนครบอายุ (Hold to maturity) พันธบัตรแต่ละตัวจะมีคูปองหน้าตั๋วของตัวมันเอง เช่น พันธบัตร LB145B (ครบอายุปี 2014 รุ่น B หรืออายุคงเหลือประมาณ 5 ปี) มีคูปองหน้าตั๋วอยู่ที่ 5.25% นั่นคือถ้าซื้อพันธบัตรที่ราคาพาร์ 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5.25% แต่ปัจจุบัน Yield ของพันธบัตรดังกล่าวที่ซื้อขายในตลาดอยู่ที่ระดับ 3.50% ถ้าไปดูราคาตลาดของพันธบัตรใบนี้จะพบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับ 1,100 บาท นั่นคือราคาซื้อขายของตราสารใบนี้สูงกว่าราคาพาร์ (Premium) โดยนักลงทุนที่ซื้อต้องจ่ายเงินลงทุน 1,100 บาท และได้คูปองปีละ 5.25% (คิดเป็น 52.5 บาทต่อปี) โดยเมื่อพันธบัตรครบอายุในปี 2014 ก็สามารถนำไปไถ่ถอนคืนเงินต้นได้ที่ราคา 1,000 บาท

คิดเป็นตัวเลขคร่าว ๆ คือ ลงทุนวันนี้ 1,100 บาท อีก 5 ปีไถ่ถอนได้เงินคืน 1,000 บาท ก็คือขาดทุนปีละ 20 บาท เมื่อมารวมกับดอกเบี้ยปีละ 52.5 บาท Net แล้วคือได้ดอกเบี้ยประมาณ 32.5 บาท (เมื่อคิดรวมกับหลัก Present Value แล้วจะได้เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีหรือ Yield 3.50% พอดี)




ความสำคัญของ Yield
Yield นับเป็นดอกเบี้ยตัวหนึ่งที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาด เช่นในปี 2008 ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ที่ Yield พันธบัตร 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 3% ไปถึงระดับเกือบ 5% (ตามรูป) เนื่องจากในช่วงนั้นเงินเฟ้อของไทยขึ้นไปถึงประมาณ 9% ทำให้นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงค์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยได้มาก ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. แบงค์ชาติก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยจาก 3.25% ไปสู่ 3.75% โดยสรุปคือ Yield มักจะเป็น Leading indicator ที่ดีของทิศทางดอกเบี้ยของประเทศนั่นเอง

นัยต่อการลงทุน และการทำธุรกิจ
ในภาวะปัจจุบันที่ Yield 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 2% นำหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หากเห็นว่า Yield เป็นแนวโน้มขาขึ้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็ควรลงทุนในระยะสั้น เพื่อรอให้ Yield ขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงกว่านี้ค่อยล็อคเงินลงทุนยาวและได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (ถ้าถือตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว Yield ปรับขึ้น จะทำให้มูลค่าตามราคาตลาดลดลง หรือขาดทุน) ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราก็ควรนำไปเป็นปัจจัยลบตัวหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีภาระหนี้สินเยอะ หรือแม้แต่ภาคอสังหาที่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และสุดท้ายในมุมของผู้ประกอบการที่ต้องใช้สินเชื่อ เมื่อเห็นดังนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำการขอสินเชื่ออายุค่อนข้างยาว หรือพยายามจัดสินเชื่อให้เป็นดอกเบี้ยคงที่เพื่อกันความเสี่ยงของต้นทุนดอกเบี้ยในอนาคต
สรุปแล้ววันนี้ผมจะมาบอกว่า “Yield” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตามและใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ยิ่งรู้ได้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบนะครับ (ติดตามการเคลื่อนไหวของ Yield และรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใน http://www.thaibma.or.th/ และ http://www.bot.or.th/)
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด
xxx

Share/Save/Bookmark
Wednesday 8 July 2009

Wednesday 8 July 2009

FundTalk1 ลงทุนอะไรดีในภาวะดอกเบี้ยสุดถูก

Investing on what in the cheap rate era

นับแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สหรัฐอเมริกาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 5.25 ลงมาทรงตัวที่ระดับร้อยละ 0 – 0.25 ในเดือนธันวาคม 2008 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสหภาพยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคโอเชเนียอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่คนมักจะมองว่าเป็นประเทศที่ดอกเบี้ยสูงก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยมาที่ระดับร้อยละ 3 และยังมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีกในปี 2552

ในส่วนของประเทศไทยก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2008 จากระดับร้อยละ 3.75 สู่ระดับร้อยละ 1.25 ในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อสมัยปี 2003 ที่ผ่านมา โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 0.50 และอัตราดอกเบี้ยฝากประจำลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 0.75 – 1.00 หากดูจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 อันดับแรก

หลายท่านคงเกิดคำถามว่าจะนำเงินไปทำอะไรดีในภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ คำตอบที่ตายตัวคงไม่มีเพราะการลงทุนจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน โดยวันนี้ผมจะขอมาแชร์มุมมองต่อสินทรัพย์แต่ละประเภทครับ

อย่างแรกคือผมคิดว่าการลงทุนในเงินฝากประจำ หรือตราสารหนี้แบบล็อคยาวไม่น่าเหมาะ เพราะดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน การล็อคยาวควรทำเมื่อดอกเบี้ยสูงและมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะลดลงมากกว่า เรียกว่าถ้าไปฝากยาวตอนนี้และดอกเบี้ยขึ้นก็จะเสียโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไปเยอะทีเดียว ถ้าจะฝากเงินผมว่าฝากสั้น ๆ ดีกว่าครับ แต่ถ้าฝากสั้น ๆ ดอกเบี้ยต่ำเกินไปก็คงต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ ที่เหมาะกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวท่านเอง

ในส่วนของตลาดหุ้นผมคิดว่าการลงทุนตอนนี้เป็นจังหวะและโอกาสที่ดีเนื่องจากราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ถูก และพื้นฐานของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียยังแข็งแรง เห็นมาหลายรอบแล้วครับตลาดไทยที่ตกแรง ๆ ซึ่วมักจะมาประมาณ 10 ปีหน ตั้งแต่ปี 90 ที่ SET ตกลงมาจากประมาณ 1100 จุดมาเหลือ 500 กว่าจุด ถัดมาก็ยุคลอยตัวค่าเงินช่วงประมาณปี 95 – 97 ที่ดัชนีรูดจาก 1700 เหลือ 200 และปี 2008 ก็เป็นอีกรอบที่ดัชนีปรับลงมาจาก 900 เหลือ 380 ทั้งสามรอบที่ผ่านมาถ้าใครแข็งใจกล้าลงทุนตอนที่มันร่วงลงมาก็เรียกได้ว่าเป็น “โอกาสทอง” ในการลงทุนทีเดียวหากดูการฟื้นตัว 2 – 3 ปีหลังจากนั้น สำหรับรอบนี้หุ้นขึ้นจาก 380 มา 580 ผมว่ายังไม่สายครับ

สำหรับผู้ที่ไม่ชอบลงทุนในหุ้นผมคิดว่า “ทองคำ” น่าสนใจครับ เวลาเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่ดี มักจะเห็นการไหลผ่านของเงินไปสู่การซื้อทองคำอยู่เสมอ เช่นปลายปี 2008 นับแต่ Lehman Brothers ยื่นล้มละลาย และตลาดการเงินปั่นป่วนอย่างมาก ราคาทองได้ดีดตัวขึ้นอย่างแรงจาก 723 USD/Ounce มาที่ประมาณ 1,000 USD/Ounce อีกขาหนึ่งเวลาเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าอาจจะฟื้นตัว หรือนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ราคาทองก็มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะคนต้องการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สนับสนุนต่อราคาทองครับ ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศอินเดีย และการสะสมทองคำในอัตราส่วนที่มากขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะธนาคารกลางจีน ที่เริ่มทยอยลดการถือครองเงินสำรองเป็นเงินสกุล USD และเพิ่มสัดส่วนการถือทองคำให้มากขึ้น

สำคัญมากคือการเรียนรู้เรื่องการลงทุน และเข้าใจความเสี่ยงและโอกาสได้รับผลตอบแทนของเงินลงทุนของท่าน การหาความรู้ตรงนี้คุ้มค่าแน่นอน เพราะนอกจากจะช่วยในการบริหารเงินเก็บของคุณให้มีประสิทธิภาพ ยังสามารถช่วยดูแลทรัพย์สินในกับคนที่ท่านห่วงใยได้อีกด้วยครับ

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

xxx
Share/Save/Bookmark