* Google Analytics start * Google Analytics end
Monday 20 July 2009

Monday 20 July 2009

ชีวิตของคนที่เรียกตัวเองว่า "ผู้จัดการกองทน"

Blog นี้นำมาจากบทความที่เขียนโดย คุณ ณสุ จันทร์สม,CFA. ผู้จัดการกองทุนหุ้นระดับแนวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่งที่ผมเคยมีโอกาสได้ร่วมงานด้วยครับ

มีความเข้าใจกันอย่างทั่วไปว่า การเป็นผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพที่เป็นที่คาดหวังของนักเรียนสาขาการเงินหลายๆคน สำหรับเหตุผลคงหนีไม่พ้นว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีโอกาสได้บริหารเงินที่มีจำนวนมาก มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลมากมายซึ่งใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีข้อที่ควรระวัง ผู้เขียนขอสรุปประเด็นข้อดีและข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อเป็นข้อคิดดังนี้

สำหรับข้อดีของการเป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากการมีโอกาสที่ได้บริหารเงินค่อนข้างเยอะ (แต่ไม่ใช่เงินของตนเอง) คงหนีไม่พ้นการได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนฯต่างๆ การได้เข้าถึงทำให้สามารถทราบถึงวิสัยทัศน์ของคนในระดับผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสนี้ เหตุผลที่ได้เข้าพบก็เนื่องมาจากผู้จัดการกองทุนถือได้ว่าเป็นนักลงทุนสถาบันและมีอำนาจในการตัดสินใจจะซื้อจะขายหลักทรัพย์ใดๆได้ สำหรับข้อดีอื่นๆของการเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนสถาบัน ก็คือการมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่กว้างขวางจากโบรกเกอร์ต่างๆเกือบจะทุกแห่ง เนื่องจากโบรกเกอร์ทุกแห่งคงอยากได้การยอมรับจากผู้จัดการกองทุน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะได้รับค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Brokerage Commission) ก็จะมีมากขึ้น หากจะสรุปสั้นๆก็อาจกล่าวได้ว่าผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะมีแต่คนเอาใจ จึงมีผู้จัดการกองทุนบางคนอาจหลงลืมไปว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเค้าคืออะไร จริงจริงก็เป็นคนที่นักลงทุนฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง

สำหรับข้อควรระวังของการเป็นผู้จัดการกองทุนก็มีอยู่ไม่น้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคาดหวัง (Expectation) ของนักลงทุน ทั้งในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนต้องตระหนักเสมอว่า เงินที่ลงทุนอยู่นั้นไม่ใช่เงินของตนเอง เงินที่นำมาลงทุนส่วนมากเป็นเงินที่นักลงทุนเก็บออมมาด้วยความยากลำบาก ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในยามเกษียณ หรือเพื่อสำหรับการศึกษาของบุตรธิดาของนักลงทุนนั้น ความคาดหวังจึงมีค่อนข้างสูง หากผู้จัดการกองทุนไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังที่ตกลงกับนักลงทุนในตอนเริ่มต้น ผู้จัดการกองทุนก็คงต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ยากลำบากในการอธิบายให้กับผู้ลงทุนเข้าใจ หากไม่เข้าใจก็อาจรุนแรงถึงการสูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีเหตุผลในการลงทุนทุกครั้ง เพื่อในยามที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังผู้จัดการกองทุนสามารถตรวจเช็คแก้ไขและอธิบายได้ว่าเกิดจากจุดใดและเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในภายภาคหน้า

จากการที่เป็นที่คาดหวังของนักลงทุนว่าจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี ผู้จัดการกองทุนจึงต้องทำงานหนัก อาจกล่าวได้ว่าหนักกว่าเพื่อการลงทุนเงินของตัวเองเสียอีก การทำการบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ งานหลักของผู้จัดการกองทุนคือการเข้าเยี่ยมชมบริษัท Company Visit จากนั้นต้องกลับมาทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จะนำไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ ส่วนตัวของผู้เขียน หากไม่ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบริษัทจะเดินไปในทิศทางใด ก็ขอเลือกที่จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้นๆ เพราะสิ่งที่นักลงทุนสถาบันมีเหนือกว่านักลงทุนทั่วไปก็คือการมีโอกาสได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูง (Access to Management) หากไม่ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรับจ้างลงทุนโดยใช้ความรู้สึกอย่างเดียวและอาจทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมการจัดการที่ผู้จัดการกองทุนนั้นได้รับมา

นอกจากนั้น กว่าจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนได้นั้น เส้นทางก็ถือว่ายากพอสมควร กล่าวคือบุคคลนั้นๆต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าคนคนนั้นมีจรรยาบรรณที่ดีพอหรือไม่ การมีความรู้ความสามารถก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือผู้จัดการกองทุนต้องผ่านการสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program (CISA) ซึ่งการสอบดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์และบริหารการลงทุน โดยเนื้อหาจะครอบคลุมถึงการวัดความสามารถในการประเมินค่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมทั้งเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยเนื้อหาหลักๆ จะประกอบด้วย จรรยาบรรณ และมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Ethical & Professional Standards), เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน (Investment Tools), การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ (Asset Valuation), การบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Portfolio Management) ถึงจะมีหัวข้อใหญ่ๆไม่กี่หัวข้อ แต่ต้องขอบอกก่อนเลยว่าไม่ง่ายเลยที่จะสามารถทำความเข้าใจและนำมาใช้งานได้ทั้งหมด มีผู้จัดการกองทุนหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียน กว่าจะผ่านการทดสอบต่างๆก็ใช้เวลาแรมปี ถ้าต้องทำอีกครั้งอาจจะขอยอมแพ้ไปเลยด้วยซ้ำ

สรุป – มีข้อดีและข้อควรระวังเยอะสำหรับการเป็นผู้จัดการกองทุน หรือที่รู้จักกันว่า Fund Manager เป็นภาระที่หนักหน่วงเอาการเมื่อถึงเวลาต้องเอาเงินของคนอื่นมาบริหาร...เชื่อผู้จัดการกองทุนคนนี้เถอะครับ

โดย คุณ ณสุ จันทร์สม, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา จำกัด
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550
Share/Save/Bookmark

No comments: