* Google Analytics start * Google Analytics end
Monday, 20 July 2009

Monday, 20 July 2009

FundTalk7 พันธบัตรไทยเข็มแข็ง น่าลงทุนหรือไม่

How to analyze attractiveness of Government Bond

ในช่วงนี้เรียกได้ว่าร้อนแรงจริง ๆ สำหรับการเปิดจำหน่าย “พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ของรัฐบาล โดยรอบแรกขายไปแล้วขายไปแล้ว 3 หมื่นล้านเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาจากเดิมที่วางแผนไว้เพียง 1.5 หมื่นล้าน โดยสำหรับการเปิดจำหน่ายในรอบที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 คือ ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ ผมมั่นใจว่าขายหมดแน่นอนจากกระแสที่เป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่คนไทยจะได้สัมผัส และรู้จักการลงทุนในตราสารหนี้กันมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พันธบัตรหรือตราสารหนี้ มักจะเป็นการลงทุนของคนที่มีเงินเยอะ และซื้อขายกันครั้งนึงในมูลค่าค่อนข้างมาก ครั้งนี้ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ลดเงินขั้นต่ำลงเหลือเพียง 1 หมื่นบาท และสำหรับล็อตแรกยังมีการกำหนดวงเงินขั้นสูงที่ 1 ล้านบาทด้วย ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ลงทุนเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยการจองซื้อครั้งที่ผ่านมามีผู้สนใจจองซื้อสูงถึง 4 หมื่นกว่าคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้จองซื้อที่ผ่านมาจำนวนหลายเท่าตัว ผลที่ได้รับจากการออกพันธบัตรครั้งนี้นอกจากรัฐบาลจะสามารถระดมเงินได้ตามเป้าหมาย ยังทำให้ตลาดทุนเกิดความลึก (Depth) ที่มากขึ้น กล่าวคือมีจำนวนนักลงทุนที่มากขึ้นด้วย

บทความวันนี้จะขอทำการวิเคราะห์รายละเอียด (Feature) ของพันธบัตรเข็มแข็ง ความน่าสนใจ/ไม่น่าสนใจ ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่น ๆ ที่มีเสนอขายในตลาด หรือ”พันธบัตรไทยเข็มแข็ง” ที่น่าจะมีออกมาให้คนไทยซื้อกันอย่างต่อเนื่อง

วิเคราะห์ผลตอบแทน

ลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรไทยเข็มแข็งครั้งนี้เป็นแบบขั้นบันได กล่าวคือปีที่ 1,2 จ่ายดอกเบี้ย 3% ปีที่ 3 จ่ายดอกเบี้ย 4% และปีที่ 4,5 จ่ายดอกเบี้ย 5% เวลาทำการวิเคราะห์หาผลตอบแทน ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ควรใช้การคำนวณ IRR ครับ ง่าย ๆ เพียงใช้โปรแกรม Excel และกรอกข้อมูลตามรูปครับ เริ่มต้นจากการกรอกวันที่จ่ายเงิน และวันที่รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนในอนาคต และใช้สูตร XIRR ของโปรแกรม Excel ซึ่งคำนวณออกมาแล้วได้ IRR หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3.99% หรือประมาณ 4% นั่นเอง


หลายท่านคงเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่จับหารกันง่าย ๆ ไปเลย เอา 3 + 3 + 4 + 5 + 5 หารด้วย 5 ปี ก็ได้เฉลี่ยปีละ 4% คำตอบคือ เวลาคิดเร็ว ๆ ก็จับหารเลยครับ แต่ที่ลองทำคำนวณอย่างละเอียดให้ท่านดูเพราะ วิธีการคิด IRR นี้ยังมีประโยชน์ในอีกหลายแง่มุม เช่นเวลาเรามีโครงการใด ๆ ที่จะลงทุน การคำนวณ IRR ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อดูว่าผลตอบแทนของการลงทุนของเราเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และก็ต้องไม่ลืมนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรครับ ถ้าโครงการลงทุนที่ท่านอยากทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล ก็อย่าไปทำเลยครับ เอาเงินไปซื้อพันธบัตรยังดีกว่า ความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย

สภาพคล่อง และช่องทางการซื้อขาย
มีข้อกำหนดสำหรับการถือครองพันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ถืออย่างน้อย 6 เดือนครับจึงจะเปลี่ยนมือได้ อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับมองว่าสภาพคล่องของการลงทุนในพันธบัตรต่ำ ซึ่งเป็นความจริงครับ แต่ถ้ามาดูในเรื่องของช่องทางการซื้อขาย ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทางมากขึ้นครับ ช่องทางแรกคือทำการซื้อขายผ่านธนาคารครับ โดยบางธนาคารจะมีบริการรับซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองครับ ช่องทางที่สองคือการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ได้มีการจัดตั้ง BEX หรือ Bond Electronic Exchange ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายตราสารหนี้ได้ผ่านทางตัวแทน คล้าย ๆ กับการซื้อขายหุ้นครับ (สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bex.or.th/) สรุปคือการซื้อพันธบัตรเหมาะกับการถือครองจนครบอายุครับ แต่หากก็สามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้เช่นกัน ผมเชื่อว่าในอนาคตสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับจากการที่เริ่มมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนมากขึ้น



ความน่าลงทุน
หลาย ๆ ท่านได้สอบถามผมว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งน่าลงทุนหรือไม่ คำถามนี้ผมขอตอบเป็น 2 ประเด็นครับ
1.เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 2.90% แต่พันธบัตรไทยเข็มแข็งให้ผลตอบแทนถึง 3.99% ต่างกันถึง 1.09% เมื่อมองในประเด็นนี้จัดว่าได้ Premium ที่ดี ซึ่งถือว่าน่าลงทุนมากครับ (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรล่าสุดดูได้จาก http://www.thaibma.or.th/)

2.อย่างไรก็ตามหามองทิศทางดอกเบี้ย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากในปีข้างหน้าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่าพันธบัตรไทยเข็มแข็งในอนาคตยังมีอีกหลายรุ่นครับถ้าดูจากโปรแกรมการระดมเงินของภาครัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสเยอะทีเดียวครับที่ดอกเบี้ยของพันธบัตรในปีหน้าจะสูงกว่าในเวลานี้ ดังนั้นค่อย ๆ ทยอยซื้อก็เป็นไอเดียที่ดีครับ อย่าลงทุนจนเงินหมดในทันที ของดียังมีอีกเยอะ
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด.
xxx

Share/Save/Bookmark

No comments: